วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

กฎหมายเกี่ยวข้องกับวงจรชีวิต

การเกิด (การแจ้งเกิด)


การเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพบุคคล และเป็นจุดเริ่มต้นที่กฎหมายเข้ามามีบทบาท เมื่อมีเด็กเกิดในครอบครัว กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการเกิดดังต่อไปนี้
๑. กรณีเด็กเกิดในบ้าน เมื่อหญิงตั้งครรภ์ และได้คลอดลูกในบ้านของตนเอง ผู้มีหน้าที่แจ้งเด็กเกิดคือ "เจ้าบ้าน" หรือตามกฎหมายก็คือ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว อาจจะเป็นผู้อยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือหากเช่า บ้านคนอื่น ก็คือผู้อยู่ในฐานะผู้เช่า หรือผู้อยู่ในฐานะอื่นๆ อย่างเช่น กรณี ที่เจ้าของบ้านยกบ้านให้อยู่ฟรีๆ ผู้ที่ได้รับการยกให้อยู่ก็เป็นเจ้าบ้านได้เหมือนกัน


นอกจากเจ้าบ้านแล้ว บิดา หรือมารดาของเด็กเป็นผู้มีหน้าที่แจ้ง เช่นเดียวกัน


การแจ้งการเกิดนี้จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เกิด เช่น เด็กเกิดวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๐ ก็จะต้อง แจ้งภายใน ๑๕ วัน คืออย่างช้าวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๐ หรือถ้าเด็กเกิด วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐ จะต้องแจ้งอย่างช้าวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เป็นต้นส่วนนายทะเบียนท้องที่ที่เกิดนั้น แยกไว้ ๒ กรณี


(๑) หากท้องที่นั้นอยู่ในเขตเทศบาล นายทะเบียนที่จะรับแจ้งการ เกิด ได้แก่ ปลัดเทศบาล ณ ที่ทำการเทศบาล


(๒) หากท้องที่นั้นอยู่นอกเขตเทศบาล นายทะเบียนที่จะรับแจ้ง การเกิด ได้แก่ กำนัน ณ ที่ทำการกำนัน


๒. กรณีเด็กเกิดนอกบ้าน การเกิดนอกบ้าน คือ เกิดในที่ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่บ้านของตน เช่น เกิดที่บ้านของญาติ หรือในป่า ผู้ที่มีหน้าที่ แจ้งการเกิด คือ บิดาหรือมารดาของเด็ก โดยต้องแจ้งแก่นายทะเบียน ท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้าน หรือท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้นับแต่วันที่เกิด ซึ่งหมาย ความว่า เมื่อเด็กเกิดแล้ว บิดาหรือมารดาจะต้องแจ้งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เกิด แต่หากไม่สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนในท้องที่ที่เด็กเกิดได้ ภายใน ๑๕ วัน เช่น เกิดน้ำท่วมอย่างหนักเป็นเวลานานไม่อาจไปแจ้ง ท้องที่ที่เด็กเกิดได้ทันเวลา ก็สามารถแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่อื่น ๆ ได้


แต่ ถ้ามีความจำเป็นและไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดเวลา ไม่ว่าจะแจ้ง ที่ท้องที่ที่เด็กเกิดหรือท้องที่อื่นก็ตาม ก็ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน ๓๐ วันนับแต่วันที่เกิด


ตัวอย่าง หญิงตั้งครรภ์ และหลงเข้าไปในป่า ต่อมาคลอดลูก จะเห็น ได้ว่าหญิงหรือมารดาของเด็กไม่อาจจะแจ้งแก่นายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิดหรือ ท้องที่ใด ๆ ที่สามารถจะแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่เกิด เพราะยังคงอยู่ในป่า เมื่อผ่านไป ๒๐ วัน มารดาสามารถออกจากป่าได้แล้ว ดังนั้นวันที่อาจแจ้งได้ คือ วันที่มารดาออกจากป่า หรือจะแจ้งวันอื่นก็ได้ แต่ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เด็กเกิด


ข้อสังเกต การคลอดลูกในโรงพยาบาลถือว่า เป็นการเกิดนอกบ้าน ซึ่งตามข้อ ๒ ผู้มีหน้าที่แจ้ง คือ บิดาหรือมารดา แต่ในทางปฏิบัติทาง โรงพยาบาลจะจัดการเรื่องนี้เอง ซึ่งถือเป็นบริการของโรงพยาบาล โดยที่บิดาหรือมารดาไม่ต้องแจ้งแก่นายทะเบียนแต่อย่างใด


ในกรณีที่ผู้ใดพบเด็กเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้ ให้ผู้นั้นมีหน้าที่แจ้งต่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์ในท้องที่ที่ผู้นั้นพบเด็กโดยเร็ว และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะแจ้งว่ามีคนเกิดต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้ง


โทษ ผู้มีหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นทั้งกรณีเด็กเกิดในบ้าน เด็กเกิดนอก บ้าน และผู้พบเด็กถูกทิ้ง ถ้าฝ่าฝืนไม่ทำตามหน้าที่ ย่อมมีความผิด อาจถูก ปรับได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทเมื่อแจ้งเด็กเกิดในบ้าน หรือนอกบ้านแล้ว นายทะเบียนจะออกสูติบัตร (ใบแจ้งเกิด) ให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสูติบัตรจะแสดงสัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อบิดา มารดา อีกทั้งควรแจ้งชื่อของเด็กที่เกิดด้วย และถ้าประสงค์จะเปลี่ยนชื่อใหม่ ก็ให้แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๖ เดือนนับ แต่เกิด


บุตรใคร (หลักเกณฑ์ในการยืนยันการเป็นบิดาตามกฎหมาย)


ปัญหาเรื่องความเป็นบิดา และบุตร หรือความเป็นพ่อแม่ลูกนั่นเอง ถ้าดูผิวเผินอาจจะมองเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้ๆ กันอยู่ว่า ครอบครัวนี้มีใครเป็นบิดามารดาของเด็ก แต่ในทางกฎหมายไม่ได้พิจารณา จากข้อเท็จจริงที่รู้ ๆ กัน บางทีเรารู้ว่า ผู้ชายคนนั้นเป็นบิดาของเด็ก แต่กฎหมายกลับไม่ยอมรับว่าเขาเป็นบิดา


ตัวอย่าง ก แต่งงานกับ ข ตามประเพณี และอยู่กินกันฉันสามี ภริยา นาง ข ตั้งครรภ์และคลอดลูก เช่นนี้เราย่อมรู้ว่า นาย ก เป็นบิดาของ เด็กคนนั้น แต่กฎหมายไม่ยอมรับว่า นาย ก เป็นบิดาของเด็ก การที่ชายหญิงจะอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายกำหนดว่าจะต้องจดทะเบียนสมรส (จดทะเบียนสมรส ณ ที่ทำการอำเภอ) หากอยู่กินกันเฉย ๆ โดยไม่จดทะเบียนสมรส แม้เราจะรู้ว่าเขาเป็น สามีภริยากัน แต่กฎหมายกลับไม่ยอมรับว่าเป็นสามีภริยากันเลย และไม่ถือ ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันเลย ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันนานสักเพียงใด ดังนั้น หาก ชายหญิงต้องการเป็นสามีภริยาถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะต้องจดทะเบียน สมรสเสมอ


ฉะนั้น ในปัญหาที่ว่า ใครเป็นบิดา มารดาของเด็ก จะขอแยก พิจารณาเป็น ๒ กรณี


๑. เมื่อมีการจดทะเบียนสมรส


๒. เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรส


เมื่อมีการจดทะเบียนสมรส เด็กที่เกิดจากหญิงที่ได้ทำการ สมรสตามกฎหมายย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย เห็นได้ว่า กฎหมายยอมรับว่าชายจะเป็นบิดาของเด็ก เมื่อได้มีการจดทะเบียนสมรสแล้ว


เมื่อไม่มีการจดทะเบียนสมรส กรณีเด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้ ทำการสมรสตามกฎหมาย ไม่ว่าจะแต่งงานตามประเพณี หรือพากันหนีไป อยู่ด้วยกัน (ที่เรียกว่า วิวาห์เหาะ) เด็กนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชาย เพราะไม่มีการสมรส (ไม่มีการจดทะเบียนสมรส) จึงทำให้ ชายและหญิงไม่มีความสัมพันธ์กันแต่ประการใด กฎหมายไม่ยอมรับว่าชาย เป็นสามีของหญิง (มารดาของเด็ก) ซึ่งเป็นผลทำให้ชายไม่เป็นบิดาของเด็ก ตามกฎหมาย


ตามข้อ ๒ นี้ จะมีทางใดที่จะทำให้เด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชาย กฎหมายได้กำหนดวิธีไว้ ๓ ประการ


(๑) ชายคนนั้นได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงในภายหลัง เมื่อชายได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงที่เป็นมารดาของเด็กในภายหลัง การสมรส นี้มีผลทำให้เด็กที่เกิดออกมาก่อนการสมรสนั้น เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของชายทันทีนับแต่วันที่ทำการจดทะเบียนสมรสกันนั่นเอง บุตรที่เกิดก่อนมีการสมรสนั้น จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ชายได้ตามกรณีนี้ก็ต่อเมื่อชายนั้นเป็นบิดาของเด็กที่แท้จริงด้วย หากหญิงไป สมรสกับชายอื่นซึ่งไม่ใช่บิดาเด็กนั้น ก็ไม่มีผลทำให้เป็นบุตรที่ชอบด้วย กฎหมายของชายคนนั้นได้


ตัวอย่าง นาย ก แต่งงานตามประเพณีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส กับนางสาว ข ต่อมานางสาว ข ตั้งครรภ์และคลอดลูก เด็กที่เกิดมานั้นไม่ใช่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนาย ก ถ้านาย ก ต้องการให้เด็กคนนั้นเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของตน ก็ทำโดยจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข ภายหลัง แต่ถ้านางสาว ข จดทะเบียนสมรสกับคนอื่นที่ไม่ใช่ นาย ก เช่น จดทะเบียน สมรสกับนาย ค เช่นนี้ ไม่ทำให้เด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ นาย ค เพราะนาย ค ไม่ใช่บิดาที่แท้จริงของเด็ก


(๒) ชายคนนั้นได้รับรองบุตร กรณีนี้ต่างจากข้อ ก เพราะไม่ได้ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก แต่เป็นการจดทะเบียนรับรองว่าเด็กที่ เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน


การจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรนั้น จะมีผลทันทีนับแต่วันจด ทะเบียน และจะมีผลแต่เฉพาะเด็กที่บิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรเท่านั้น เด็กคนอื่นแม้จะเป็นพี่น้องเดียวกันกับเด็กคนนั้น ก็ไม่มีผลเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย


การจดทะเบียนรับรองบุตรนี้ไม่ทำให้มารดาของเด็กเป็นภริยาที่ชอบ ด้วยกฎหมายของชายแต่ประการใด


ตัวอย่าง นายแดง แต่งงานตามประเพณีกับนางสาวขาว โดยไม่ได้ จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ ก, ข, ค, ง และ จ เด็กทั้ง ๕ คน ไม่เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของนายแดง ถ้านายแดงต้องการให้ ก และ ข เป็นบุตรของตนตามกฎหมาย ก็จดทะเบียนรับรอง ก และ ข เป็นบุตรของตนได้ เช่นนี้ย่อมไม่ทำให้ ค, ง และ จ เป็นบุตรตามกฎหมายของนายแดงไปด้วย อีกทั้งไม่ทำให้นางสาวขาวเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของนายแดงเช่นกัน


(๓) ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ถ้าหากชายไม่ยอมจดทะเบียน สมรสกับหญิง หรือไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว ก็ยังสามารถทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ โดยการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษา ให้ชายรับเด็กที่เกิดจากหญิงนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตน


การฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของชายนี้ จะมีผลทันทีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และมีผลเฉพาะเด็กคนนั้น เด็กคนอื่นแม้เป็นพี่น้องเดียวกันกับเด็กคนนั้น ก็ไม่อาจเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของชายได้ อีกทั้งไม่ทำให้มารดาของเด็กเป็นภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของ ชายเช่นกัน


(๑) หญิงซึ่งเป็นมารดาของเด็กไม่มีสิทธิฟ้องศาลเพื่อให้ชายรับรอง ตนเองว่าเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิแต่เพียงฟ้องขอให้รับเด็กที่เกิดจากตนและชาย ให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายเท่านั้น


(๒) ที่กล่าวมา เป็นเรื่องเฉพาะของชายว่า ชายจะเป็นบิดาที่ชอบ ด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดมาหรือไม่ เท่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงหญิงเลยว่า กรณีใดหญิงจะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กได้บ้าง เหตุที่ไม่ได้กล่าว ก็เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว หญิงต้องเป็นมารดาของเด็กอยู่แล้วไม่ว่าจะมีการจดทะเบียนสมรส หรือไม่มีก็ตาม หญิงก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเด็กที่เกิดมา นั้นไม่ใช่บุตรของตน เพราะตนเป็นคนคลอดเด็กออกจากครรภ์ของตน ฉะนั้น เด็กจึงย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงเสมอ


สรุป เด็กที่เกิดจากหญิงที่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายย่อมเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของชายและหญิง แต่ถ้าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้ทำการ สมรสตามกฎหมาย ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้เป็นมารดา เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายจนกว่าชายคนนั้นจะได้ จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็กในภายหลัง หรือจดทะเบียนรับรองว่า เด็กเป็นบุตรของตน หรือศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรเท่านั้น



บุตรบุญธรรม (การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดา
มารดา และบุตรบุญธรรม, การเลิกการจดทะเบียนบุตรบุญธรรม)


บุคคลอาจขอรับบุตรของผู้อื่นมาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ โดยการจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของตน กฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การรับบุตรบุญธรรมไว้ดังต่อไปนี้


(๑) บุคคลที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ และต้องแก่กว่าผู้ที่ตนจะรับเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี


(๒) ถ้าหากผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ การรับบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมและถ้าผู้ที่ เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี ก็ต้องให้ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม สมัครใจด้วย


(๓) ถ้าไม่มีผู้ให้ความยินยอมดังกล่าว หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอม และการปฏิเสธไม่ให้นั้นเป็นไปโดยไร้เหตุผล และเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ความเจริญหรือ สวัสดิภาพของผู้เยาว์ ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรม หรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาต ให้มีการรับบุตรบุญธรรมก็ได้


(๔) ถ้าผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสโดย ชอบด้วยกฎหมายด้วยการรับบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือ ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้รับข่าวคราวประการใดเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า ๑ ปี ในกรณีนี้ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ ความยินยอมของคู่สมรสนั้น


(๕) บุตรบุญธรรมจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะเดียวกัน ไม่ได้ และการรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว


ข้อสังเกต บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วย กฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา เช่น สิทธิในการรับมรดกบิดามารดาเดิม เมื่อมีการจดทะเบียนรับ บุตรบุญธรรมแล้วอำนาจปกครองบิดามารดาโดยกำเนิดก็หมดไปนับแต่วันเวลา ที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรม


ถ้าจะเลิกรับบุตรบุญธรรม ทำได้ดังนี้


(๑) ในกรณีที่บุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ การเลิกก็ต้องได้รับความ ยินยอมจากบิดาและมารดาก่อน


(๒) ถ้าบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว อาจตกลงกันเองระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม แล้วไปจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมก็ได้ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อ มีการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม

การศึกษา


ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชนในชั้น ประถมคือ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ที่ ๖

ในมาตรา ๖ ผู้ปกครองจะต้องส่งเด็กในความปกครองของตนเข้าเรียนในภาคบังคับ (ป.๑ - ป.๖) เมื่อเด็กอายุย่างเข้าปีที่แปด และต้องอยู่ใน โรงเรียนจนกว่าจะมีอายุย่างเข้าป ีที่สิบห้า (๑๕ ปีบริบูรณ์) แต่ถ้าเด็กในปกครองสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๖ ก็ไม่ต้องรอให้อายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ ก็ได้ ถือว่าจบและออกจากโรงเรียนได้ ถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติตามดังกล่าวนี้ จะต้องถูกปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (มาตรา ๑๐)

การนับอายุให้นับตามปีปฏิทิน (เช่น ด.ช. ก เกิด ๑ มกราคม ๒๕๒๕ จะมีอายุครบ ๑ ปีบริบูรณ์ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๒๖) กล่าวคือนับวันเกิดชนวันเกิด

"ผู้ปกครอง" ตามกฎหมาย หมายถึง

(๑) บิดามารดาที่อยู่ด้วยกันทั้งที่จดทะเบียนสมรส และไม่จด ทะเบียนสมรส (กฎหมายลักษณะผัวเมีย) กล่าวคือ เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

(๒) บิดาหรือมารดา

- การที่บิดามารดาหย่ากัน และบุตรอยู่ในความอุปการะของ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

- คู่สมรสแยกกันอยู่โดยมิได้หย่าขาดจากกัน และบุตรอยู่ใน ความอุปการะของบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

(๓) บุคคลที่ดูแลเด็กที่อยู่รับใช้การงานในบ้านเรือนของตนเอง ถือ ว่าเป็นผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายและต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย

สำหรับนักเรียนที่เข้าโรงเรียนแล้ว ต้องไม่ขาดเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โดยภายใน ๑ เดือนขาดเรียนได้ไม่เกิน ๗ วัน

คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด มีอำนาจกำหนดให้ผู้ปกครองของเด็กในท้องที่ใดในเขตจังหวัด ส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อเด็กมีอายุต่ำหรือสูงกว่าที่กำหนดไว้ได้

เด็กที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเรียนโดยผู้ปกครองร้องขอ ได้แก่

(๑) มีความบกพร่องในทางร่างกายและจิตใจ

(๒) เป็นโรคติดต่อตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

(๓) ต้องหาเลี้ยงผู้ปกครองซึ่งทุพพลภาพไม่มีหนทางเลี้ยงชีพ และ ไม่มีผู้อื่นเลี้ยงดูแทนถ้าผู้ปกครองที่ทุพพลภาพมีเด็กต้องส่งเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาพร้อมกันหลายคนให้ยกเว้นเพียง ๑ คน

(๔) มีความจำเป็นอย่างอื่น


บัตรประจำตัวประชาชน (เกณฑ์ในการทำบัตรประชาชน, การต่ออายุบัตร, โทษของการปลอมแปลงบัตร)

กฎหมายกำหนดให้คนที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ (ย่างเข้าอายุ ๑๕ ปีก็ขอยื่นทำบัตรประชาชนได้) แต่ไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน โดยยื่นคำขอทำบัตรประชาชนได้ที่ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอของท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่

การยื่นขอทำบัตรประชาชนต้องยื่นภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่อายุ ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เช่น ตัวอย่าง นาย ก เกิด ๑ มกราคม ๒๕๑๙ ครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๔ นาย ก ต้องยื่นคำขออย่างช้า ภายในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ มิฉะนั้น นาย ก จะต้องถูกปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท (การนับเวลา ๖๐ วันนี้นับเป็นวันๆ ไม่ใช่นับทีละ ๒ เดือน)

บัตรประชาชนมีอายุ ๖ ปี เมื่อบัตรหมดอายุให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้ จนถึงวันครบรอบวันเกิด เมื่อครบรอบวันเกิดแล้ว ภายใน ๖๐ วันนับแต่วัน ครบรอบวันเกิด ต้องไปขอเปลี่ยนบัตรใหม่ หากฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท เช่น ออกบัตรวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๐ บัตรหมดอายุ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ต้องขอทำบัตรใหม่ภายในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๗ เป็นต้น

กรณีคนต่างด้าว ต้องยื่นขอมีบัตรประชาชนภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้สัญชาติไทย

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ได้รับให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือสกุล ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท

เมื่อบัตรสูญหายหรือถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่หาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ฝ่าฝืนถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท

ในกรณีพ้นจากสภาพการยกเว้นที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ต้องขอมี บัตรประชาชน ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันพ้นสภาพนั้นๆ เหตุยกเว้นที่ ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ได้แก่

(๑) พระภิกษุ

(๒) ข้าราชการ ซึ่งได้แก่ ตำรวจ ทหาร

(๓) นักโทษ

การนับอายุเพื่อขอมีบัตรประชาชน ขอขยายเพิ่มเติมว่า ให้นับอายุ ๑ ปีบริบูรณ์เมื่อสิ้น พ.ศ. ที่เกิด เช่น ปี ๒๕๐๙ พอสิ้นปี ๒๕๐๙ ให้ถือว่า นับอายุได้ ๑ ปีบริบูรณ์

ดังนั้น สมมติว่า นาย ก เกิดปี ๒๕๐๙ จะต้องยื่นคำขอมีบัตร ประชาชน ในปี ๒๕๒๔ เพราะถือว่ามีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ การไปขอทำ บัตรประชาชนหลักฐานที่ต้องนำไป ได้แก่

(๑) ทะเบียนบ้าน

(๒) ใบสูติบัตร

(๓) หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลทั้งของตนเองและของ บิดามารดา (ถ้ามี)

(๔) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ถ้ามี)

กรณีที่เป็นบุคคลสัญชาติไทย แต่เสียสัญชาติไทย ผู้นั้นต้องมีหน้าที่ส่งมอบบัตรประจำตัว ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ตนมีทะเบียนบ้านภายใน ๖๐ วัน ถ้าฝ่าฝืนไม่ส่งมอบต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับ ตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ถ้าบุคคลที่เสียสัญชาติไทยดังกล่าวนำบัตรประจำตัวไปใช้ หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับไปใช้โดยไม่มีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

การมีบัตรประจำตัวประชาชนนั้นมีความสำคัญ จึงต้องนำติดตัวไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตร ขอดู ถ้าผู้นั้นไม่อาจแสดงบัตรหรือ ใบรับ หรือใบแทนใบรับ (กรณีขอทำบัตรใหม่) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองร้อยบาท

นอกจากนี้ การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ต้องแจ้งข้อความจริงต่อเจ้าพนักงาน ถ้าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จไม่ว่าจะเป็นการขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในบางกรณีมีคนนำบัตรประจำตัวของผู้อื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางมิชอบ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท

ส่วนการปลอมบัตรประชาชน กฎหมายถือว่าเป็นความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การใช้บัตรประชาชนปลอมก็มีโทษเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการปราบปรามขบวนการปลอมบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าว ซึ่งเจ้าพนักงานมีส่วนร่วมด้วย กฎหมายจึงกำหนดโทษ เจ้าพนักงานชาวไทย (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ออกบัตรหรือไม่) ถ้าเป็นผู้ปลอมบัตรหรือใช้บัตรปลอม (หรือเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง สามแสนบาท แต่ถ้าผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ค่าธรรมเนียมในการขอออกบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร ฉบับละ ๒๐ บาท

การรับราชการทหาร

ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

การขึ้นบัญชีทหารกองเกิน

ชายผู้มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ. นั้น ต่อสัสดีอำเภอที่ ตนมีภูมิลำเนาทหารอยู่ ถ้าไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินได้ด้วยตนเอง ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและเชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการแทน (มาตรา ๑๖ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร)

บุคคลใดซึ่งยังไม่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอพร้อมกับคนปีเดียว กัน ถ้าอายุยังไม่ถึง ๔๖ ปีบริบูรณ์ ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินเสียเช่น เดียวกับคนที่มีอายุย่างเข้า ๑๘ ปีโดยต้องปฏิบัติภายใน ๓๐ วัน นับแต่วัน ที่สามารถปฏิบัติได้ในกรณีนี้จะให้ผู้อื่นดำเนินการแทนไม่ได้ (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๑๘)

เมื่อได้รับการลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว นายอำเภอจะออกใบสำคัญ ส.ด. ๙ ให้ไว้เป็นหลักฐาน

เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ภูมิลำเนาทหารมีได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๕)

บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือนหรือปรับไม่เกิน ๓๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิดบุคคลนั้นได้มาลง บัญชีทหารกองเกิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)

การตรวจคัดเลือกทหารกองเกินให้เป็นทหารกองประจำการ

ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ใน พ.ศ. ใด ต้องไปแสดง ตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายใน พ.ศ. นั้น บุคคลใดไม่สามารถไปรับหมาย เรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคล ซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๒๕)

บุคคลใดไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๓๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่ ยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด บุคคลนั้นได้มาขอรับหมายด้วยตนเอง หรือให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่เชื่อถือได้มารับแทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)

เมื่อถึงกำหนดวันตามหมายเรียก ที่กำหนดวันให้ทหารกองเกินทุก คนต้องไปทำการตรวจคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียก ต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประชาชน ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)

ทหารกองเกิน ซึ่งจะถูกเรียกมาตรวจคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการนั้น ต้องมีอายุตั้งแต่ ๒๑ ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง ๓๐ ปีบริบูรณ์ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๓๒)

บุคคลใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจ เลือก หรือมาแต่ไม่เข้าทำการตรวจเลือกหรือไม่อยู่จนเสร็จการตรวจเลือก หรือหลีกเลี่ยงขัดขืนด้วยประการใดๆ เพื่อจะมิให้ได้เข้ารับราชการทหารกอง ประจำการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๕)

ทหารกองเกินซึ่งได้รับหมายเรียกให้ไปทำการตรวจเลือก เพื่อเข้า รับราชการเป็นทหารกองประจำการ เมื่อถึงวันกำหนดให้ไปทำการตรวจเลือก บุคคลนั้นมีเหตุจำเป็นบางประการไม่สามารถไปตรวจเลือกในวันนั้นได้ ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

เหตุจำเป็นดังกล่าว ได้แก่

(๑) ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปรับราชการทหารอันสำคัญ หรือไปราชการต่างประเทศ โดยคำสั่งของ เจ้ากระทรวง

(๒) นักเรียนซึ่งไปศึกษาต่างประเทศตามที่ระบุในกฎกระทรวง

(๓) ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบ การสงคราม และอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม

(๔) บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสงคราม

(๕) เกิดเหตุสุดวิสัย

(๖) ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น

(๗) ป่วย โดยให้ผู้บรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก

กรณีตามข้อ ๑, ๒, ๓ หรือ ๔ ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะการจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)

ทหารกองเกินผู้ใดที่ถูกคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ แล้ว ตามปกติจะต้องเข้ารับราชการมีกำหนดเวลา ๒ ปี แต่อาจจะรับราชการน้อยกว่า ๒ ปี ก็ได้ถ้ามีเหตุยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙)

ทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร ซึ่งสมควรให้อยู่ในกอง ประจำการน้อยกว่า ๒ ปี หรือมิต้องเข้ารับราชการในกองประจำการ มีหลัก ดังนี้

(๑) ผู้สำเร็จจากการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริม การฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ ๑ ให้รับราชการ ทหารกองประจำการหนึ่งปีหกเดือน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียงหนึ่งปี

(๒) ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึก วิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ ๒ ให้รับราชการทหารกอง ประจำการหนึ่งปี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ร้องขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียงหกเดือน

(๓) ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึก วิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารตั้งแต่ชั้นปีที่ ๓ ขึ้นไป ให้ขึ้นทะเบียน กองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน โดยมิต้องเข้ารับราชการในกอง ประจำการ (กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความใน พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗)

ทหารกองเกินซึ่งถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการแล้ว ถ้ารับ ราชการครบ ๒ ปี หรือน้อยกว่านั้นตามที่ได้รับยกเว้นแล้ว ก็จะถูกปลดเป็น ทหารกองหนุนต่อไป (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙ วรรค ๒)

บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็น ทหารกองประจำการ

เรื่องนี้มีหลักฐานในกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๙ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความใน พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ ดังนี้

ข้อ ๒ ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนซึ่งได้รับการผ่อนผันไม่ต้อง เรียกเข้ารับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบเพื่อฝ–กวิชาทหาร หรือ เพื่อทดลองความพรั่งพร้อม คือ

(๑) พระภิกษุ สามเณร

(๒) นักบวชในพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน

(๓) นักบวชศาสนาอื่น ซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาและไม่ เรียกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามกฎกระทรวงที่ออก ตามมาตรา ๑๔ (๒)

(๔) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ

(๕) บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร

(๖) นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม

(๗) นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวง ศึกษาธิการ

(๘) นักศึกษาของศูนยฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม

(๙) นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศและได้รับการ ผ่อนผันตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๗ (๒)

(๑๐) ครูซึ่งประจำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่นและซึ่งไม่เรียก เข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๔ (๕)

(๑๑) พนักงานวิทยุของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของ รัฐบาล

(๑๒) ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ลูกจ้าง หรือคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เฉพาะผู้ซึ่งทำงานโดยใช้วิชาหรือฝีมือ

(๑๓) ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งรับเงินเดือนประจำและเป็นข้าราชการหรือพนักงาน ตั้งแต่ระดับ ๕ หรือเทียบเท่าขึ้นไปแล้วแต่กรณี

(๑๔) ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระ-ทรวง

(๑๕) หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอหรือกิ่งอำเภอ

(๑๖) ปลัดอำเภอ

(๑๗) ตำรวจประจำการ

(๑๘) กำนัน

(๑๙) ผู้ใหญ่บ้าน

(๒๐) สารวัตรกำนัน

(๒๑) แพทย์ประจำตำบลซึ่งมิใช่ทหารกองหนุน

(๒๒) นายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรี

(๒๓) ผู้ซึ่งทำงานประจำในตำแหน่งหน้าที่สำคัญในราชการเทศบาลองค์การของรัฐบาล หรือในกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การขนส่ง การธนาคาร หากขาดไปจะทำให้กิจการเสียหายและจะหาผู้อื่นแทนไม่ได้ ตามที่กระทรวงกลาโหมกับกระทรวง ทบวง กรม เจ้าหน้าที่จะได้ตกลงกัน

(๒๔) บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๙ (๓)

(๒๕) บุคคลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นสมควรผ่อนผันเป็นพิเศษ

การหมั้น (หลักเกณฑ์ในการหมั้น, ของหมั้น, สินสอด,สิทธิหน้าที่ระหว่างบุคคลที่หมั้นกัน)

หลังจากชายและหญิงเจริญวัยพอสมควร มนุษย์เราก็จะก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่เป็นธรรมดาของมนุษยชาติ ที่ต้องการมีคู่ครอง มีครอบครัว ก่อนที่จะมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวนั้น ชายอาจจะใช้เวลาศึกษา อุปนิสัยใจคอ ความประพฤติของหญิงคู่รัก ว่าเหมาะสมที่จะเป็นแม่บ้าน ของตนหรือไม่ ส่วนหญิงนั้น อาจต้องศึกษาอุปนิสัยใจคอของชายที่ตนจะ ทำการสมรสด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าหากทำการสมรสแล้วจะเป็นพ่อบ้านที่ดีและ จะเป็นพ่อที่เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกได้หรือไม่

เมื่อทั้งชายและหญิงมีความเชื่อมั่นว่า ต่างคนต่างต้องการครองชีวิต ร่วมกัน ทั้งคู่อาจเดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอ เพื่อจดทะเบียนสมรสกัน หรือ จะหมั้นกันไว้ก่อนแล้ว ค่อยสมรสกันในภายหลัง เพื่อให้โอกาสแต่ละฝ่ายได้ เตรียมเนื้อเตรียมตัว และจะเป็นการขยายระยะเวลาในการศึกษาอุปนิสัยกันให้ นานยิ่งขึ้น

๑. หลักเกณฑ์ในเรื่องการหมั้น

การหมั้น เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันว่า ชายและหญิงคู่หมั้นจะทำการสมรสกันในอนาคต กฎหมายต้องการให้เป็น เจตนาอันบริสุทธิ์ของชายและหญิงคู่หมั้น ในการที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง กฎหมายไม่ประสงค์ให้มีการคลุมถุงชน ไม่ต้องการให้มีการบังคับให้ทำการสมรส เราจึงเห็นได้ว่าสัญญาหมั้นมีลักษณะแปลกจากสัญญาอื่นๆ ตรงที่ว่า ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสได้ แต่ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงในเรื่องเบี้ยปรับกันเอาไว้ ข้อตกลงนั้นก็เป็นอันใช้บังคับไม่ได้

ตัวอย่าง นายแดง และนางสาวสร้อยศรีได้ทำการหมั้นกัน ต่อมา นางสาวสร้อยศรีเห็นว่านายแดงยากจนไม่อยากจะสมรสด้วย ที่ตกลงรับหมั้น ในตอนแรกนั้นเพราะคิดว่านายแดง เป็นคนมีฐานะดี นายแดงจะมาขออำนาจ ศาลบังคับให้นางสาวสร้อยศรีทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะในเมื่อฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดไม่สมัครใจที่จะเป็นสามีภริยากันแล้ว หากว่าบังคับให้ทำการสมรสกัน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวอย่างแน่นอน

บุคคลที่จะหมั้นกันได้นั้น ทั้งชายและหญิงจะต้องมีอายุอย่างน้อยสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ กฎหมายกำหนดอายุของทั้ง ๒ คน ว่าแต่ละคนต้องมีอายุ ขั้นต่ำ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ดังนั้นหากชายอายุ ๑๗ ปี หมั้นกับหญิงอายุ ๑๕ ปี การหมั้นย่อมเป็นโมฆะ

เราคงได้ยินกันเสมอว่า บางคนเกิดมาก็มีคู่หมั้นอยู่แล้ว พ่อแม่เป็น คนหมั้นไว้ให้ตั้งแต่บุตรยังอยู่ในท้อง เพื่อไม่ให้เงินทองรั่วไหลไปไหน แต่ใน แง่กฎหมายแล้ว การหมั้นยังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะในขณะทำการหมั้นนั้นชายและ หญิงอายุไม่ครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์

มีบุคคลบางประเภทแม้มีอายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ทำการหมั้น กันไม่ได้เลย บุคคลประเภทนี้ได้แก่

(๑) คนวิกลจริต คนบ้า หรือคนที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

(๒) บุคคลผู้เป็นบุพการี (พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) จะหมั้นกับผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื้อ) ไม่ได้(๓) บุคคลที่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่มารดา หรือบิดาเพียงอย่างเดียว

(๔) บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว

แต่มีบุคคลประเภทหนึ่ง สามารถทำการหมั้นได้แต่ต้องขอความยิน ยอมจากบุคคลอื่น บุคคลประเภทนี้คือผู้เยาว์ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๑๗ ปีขึ้นไป แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (การบรรลุนิติภาวะทำได้ ๒ ทาง คือ มีอายุยี่สิบปี บริบูรณ์ หรือได้สมรสแล้วตามกฎหมาย)

บุคคลที่จะให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำการหมั้นได้แก่

(๑) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา

(๒) บิดาหรือมารดาเพียงคนใดคนหนึ่ง ในกรณีที่อีกคนหนึ่งถึงแก่กรรม หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ ความยินยอมหรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดา หรือบิดาได้

(๓) ผู้รับบุตรบุญธรรมให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรม

(๔) มารดา ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

(๕) ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมได้ตามข้อ (๑), (๒) และ (๓) หรือมีบุคคลดังกล่าวแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง

การหมั้นที่ปราศจากการให้ความยินยอมในกรณีที่ต้องให้ความยินยอม นั้นเป็นการหมั้นที่ไม่สมบูรณ์อาจถูกเพิกถอนได้

๒. ของหมั้น

ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงในขณะทำการ หมั้น เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรสกับหญิง

ตามประเพณีของไทยเรานั้น ฝ่ายชายเป็นฝ่ายที่นำของหมั้นไปให้แก่ ฝ่ายหญิง ที่กล่าวว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะชายหญิง คู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง หากบุคคลเหล่านี้ทำการหมั้น แทนชายหรือหญิง การหมั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย

ตัวอย่าง นายแดงอายุ ๒๒ ปี รักนางสาวสุชาดา ซึ่งมีอายุ ๑๙ ปี เป็นอันมาก แต่เนื่องจากนางสาวสุชาดา ไม่ชอบตน นายแดงจึงไปขอหมั้น นางสาวสุชาดากับนางสร้อย มารดาของนางสาวสุชาดา โดยที่นางสาวสุชาดา ไม่ได้รู้เห็นยินยอมแต่อย่างใด นางสร้อยได้ตกลงรับหมั้นนายแดง และนายแดงได้ส่งมอบแหวนเพชรให้เป็นของหมั้นในวันนั้น หากนางสาวสุชาดาไม่ยอมทำการสมรสกับนายแดงไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ นายแดงจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางสาวสุชาดาไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นรายนี้นางสาวสุชาดาไม่ได้เป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด

ของหมั้นนั้น จะต้องมีของหมั้นและส่งมอบของหมั้นในขณะทำการหมั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๕๒/๒๕๐๖ จำเลยขอหมั้นน้องสาวโจทก์เพื่อ ให้แต่งงานกับบุตรจำเลยแต่จำเลยไม่มีเงิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาบุตรจำเลยไม่ยอมแต่งงานกับน้องสาวโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตาม สัญญากู้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญากู้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ ทรัพย์สินในวันข้างหน้า ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันอย่างแท้จริง เจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาก็มิได้มุ่งต่อการให้สัญญากู้ตกเป็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ในสภาพของหมั้น และไม่มีความประสงค์ให้ตกเป็นสิทธิของหญิงเมื่อได้ทำ การสมรสแล้ว ในกรณีเช่นนี้ถือไม่ได้ว่า ได้มีการให้ของหมั้นกันตามกฎหมาย แล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ไม่ได้ เพราะสัญญากู้รายนี้ไม่มีหนี้เดิม ต่อกัน

ในกรณีเช่นนี้ถือว่าสัญญากู้เป็นเพียงสัญญาที่จะให้ทรัพย์สินเป็นของ หมั้นในอนาคต ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินกันอย่างแท้จริง ฉะนั้นสัญญากู้ จึงไม่เป็นของหมั้น สิ่งที่จะให้เป็นของหมั้นนั้นกฎหมายกำหนดแต่เพียงว่าเป็น ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้กับฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกัน ว่าจะสมรสกับหญิงนั้นเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ว่าของหมั้นนั้นต้องมีราคาเท่าใด ซึ่งศาลฎีกาได้ตัดสินมาแล้วว่าแม้เป็นเพียงผ้าขาวก็สามารถเป็นของ หมั้นได้

เมื่อทำการหมั้นแล้วของหมั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที สรุปได้ว่า สาระสำคัญของของหมั้นได้แก่

(๑) ต้องมีการส่งมอบให้แก่กันในขณะทำการหมั้น

(๒) จะมีราคามากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญ

๓. สินสอด

สินสอด เป็นทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตร บุญธรรม หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส

บุคคลที่อยู่ในฐานะจะรับสินสอดได้คือ

(๑) บิดามารดาของหญิง

(๒) ผู้ปกครองของหญิง

ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้ แต่ถ้าเหตุที่ไม่มี การสมรสนั้นเกิดจากความผิดของฝ่ายชายแล้ว ชายไม่มีสิทธิเรียกคืน

สินสอดมีลักษณะแตกต่างจากของหมั้นที่ว่า ของหมั้นต้องมีการส่ง มอบให้แก่ฝ่ายหญิงในขณะที่ทำการหมั้น แต่สินสอดนั้นจะส่งมอบให้แก่บุคคล ที่มีสิทธิจะรับเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมทำการสมรสกับตน หากว่าได้ให้ทรัพย์สินเป็นเพียงเพื่อแก้หน้าบิดามารดาของ ฝ่ายหญิงที่ตนพาลูกสาวของเขาหนีแล้ว ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๖/๒๕๑๘ เงินที่ชายให้แก่มารดาหญิงเพื่อ ขอขมาในการที่หญิงตามไปอยู่กินกับชาย โดยชายหญิงไม่มีเจตนาจะสมรสกัน ตามกฎหมาย ไม่ใช่สินสอดหรือของหมั้น เมื่อต่อมาหญิงไม่ยอมอยู่กินกับ ชาย ชายเรียกคืนไม่ได้

๔. การผิดสัญญาหมั้น

ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้น ไม่ยอมทำการสมรสกับคู่หมั้นของตนโดย ปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ถือว่าคู่หมั้นฝ่ายนั้นผิดสัญญาหมั้น

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น เช่นหญิงมีคู่หมั้นอยู่แล้วไปทำ การสมรสกับชายอื่นที่ไม่ใช่คู่หมั้นของตน หรือหนีตามชายอื่นไป ชายคู่หมั้น จะฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลบังคับให้หญิงทำการสมรสกับตนไม่ได้ เพราะการ สมรสนั้นต้องเกิดจากความสมัครใจ ศาลจะใช้อำนาจไปบังคับให้ชายและหญิง ทำการสมรสกันไม่ได้ แม้ว่าจะมีการตกลงกันว่าถ้าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา หมั้นจะให้ปรับเป็นจำนวนเท่าใด ข้อตกลงนั้นก็ใช้บังคับกันไม่ได้

แต่คู่หมั้นซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนดังต่อไปนี้

(๑) ค่าทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียง

(๒) ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากคู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะ เช่น บิดามารดาได้ใช้จ่าย หรือตกเป็นลูกหนี้ เนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริต และตามสมควร เช่น ฝ่ายหญิงได้ซื้อ เครื่องนอน เครื่องครัวไว้แล้ว ชายไปแต่งงานกับหญิงอื่น ชายต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายเหล่านี้

(๓) ค่าทดแทนความเสียหาย เนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการ ทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวกับอาชีพ หรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดย สมควรด้วยการคาดหมายว่าจะมีการสมรส

ตัวอย่าง สำหรับค่าทดแทนที่ 3 นายแดงอยู่กรุงเทพฯ หมั้นกับนางสาวนุสรา ซึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาลอยู่ต่างจังหวัด มีการกำหนดวันที่จะทำการสมรส นางสาวนุสราจึงลาออกจากพยาบาลเพื่อที่จะเป็นแม่บ้าน เมื่อนางสาวนุสราได้ลาออกจากการเป็นพยาบาลแล้ว นายแดงไม่ยอมทำการสมรสด้วย เนื่องจากได้ไปสมรสกับผู้หญิงอื่น เช่นนี้นายแดงต้องรับผิด ใช้ค่าทดแทนความเสียหาย อันเกิดจากการที่นางสาวนุสราลาออกจากงาน (สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนนี้ มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาหมั้น)

ในกรณีที่หญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น หญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นแล้ว หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น

การสมรส (หลักในการสมรส, การจดทะเบียนสมรส, เงื่อนไขการสมรส, การสมรส ที่ไม่สมบูรณ์,

ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาและหน้าที่)

ความหมาย

การสมรส หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า "แต่งงาน" นั้นก็คือ การที่ชายหญิง ๒ คน ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ซึ่งตาม กฎหมายปัจจุบันนั้น กำหนดว่า การสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส จึงจะมี ผลตามกฏหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดงาน พิธีมงคลสมรสใหญ่โตเพียงใด กฎหมายก็ไม่ถือว่า ชายหญิงคู่นั้นได้ทำการ สมรสกันเลย

การจดทะเบียนสมรสนั้น ให้ไปจดกับนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เลย และต้องมีการแสดงถึง ความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ว่าต้องการที่จะทำการสมรสกันต่อหน้านาย ทะเบียนด้วย แล้วให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้

ปกติแล้ว การสมรสจะมีผลตามกฎหมายเมื่อได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่ในกรณีพิเศษ เช่น ถ้ามีสงครามเกิดขึ้น ทำให้ชายหญิงไม่สามารถไป จดทะเบียนที่อำเภอได้ ในกรณีนี้ ชายหญิงคู่นั้นอาจตกลงที่จะสมรสกัน ต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์) ที่อยู่ในที่นั้น และ ต่อมาเมือสงครามสงบ ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องไปทำการจดทะเบียนสมรสภายใน ๙๐ วัน ซึ่งกรณีนี้ กฎหมายถือว่า ชายหญิงคู่นี้ ได้ทำการสมรสกันมาตั้งแต่ วันแรกที่ได้ตกลงสมรสกัน

ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรสนั้น นอกจากกฎหมายจะถือว่า ชายหญิงคู่นั้น ได้เป็นสามีภริยากันตามกฎหมายแล้ว ยังมีผลที่ตามมาอีกหลายประการ เช่น

(๑) เป็นหลักประกันความมั่นคงได้ว่า ถ้าได้มีการจดทะเบียนแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าฝ่าฝืนไปทำการจดทะเบียนเข้า ผลคือ การจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ กฎหมายถือว่า เป็น โมฆะ (ใช้ไม่ได้) ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง จะแจ้งให้นายทะเบียนเพิกถอน หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ นอกจากนี้ คู่สมรสฝ่ายที่ไปจดทะเบียนซ้อน ก็อาจมีความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย

(๒) ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้

(๓) ในกรณีที่เป็นความผิดที่กระทำระหว่างสามีภรรยา เช่น สามี หรือภริยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลักทรัพย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในความผิดฐานอื่น เช่น ฉ้อโกง ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก ซึ่งมีผลคือ สามีหรือภริยา นั้นไม่ต้องรับโทษตามกฏหมาย

(๔) ในเรื่องอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน ถ้าสามีภริยาถูก ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถฟ้องคดีได้เอง ภริยาหรือสามีที่ยังมีชีวิตอยู่ (ที่ได้จดทะเบียนตามกฏหมาย) สามารถร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อตำรวจหรือฟ้องศาลแทนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายหรือผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย นอกจากนี้ ในคดีหมื่นประมาทที่กระทำต่อสามีหรือภริยา ถ้าต่อมาสามีหรือภริยานั้นได้ตาย ก่อนร้องทุกข์ (แจ้งความ) ภริยาหรือสามีที่ยังมีขีวิตอยู่ก็ร้องทุกข์หรือ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เองด้วย เพราะกฏหมายให้ถือว่า เป็นผู้เสียหาย

(๕) ถ้าคู่สมรสเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุ ๑๗ ปีขึ้นไป เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว กฏหมายถือว่า ผู้นั้นได้บรรลุนิติภาวะแล้ว และสามารถทำกิจการงานต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องเป็นได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครอง และแม้จะหย่ากันก่อนอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ยังคงเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอยู่

เงื่อนไขการสมรส

การที่จะสมรสกันได้นั้น กฎหมายยังได้กำหนดเงื่อนไขไว้ดังต่อไปนี้

(๑) เรื่องอายุของชายหญิงที่จะทำการสมรสกัน กฎหมายกำหนดว่าต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์เหตุผลที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ก็ เพราะการสมรสนั้นทำให้เกิดมีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย และเกิดสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบในครอบครัวมาก การที่จะให้เด็กทำการสมรสกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในครอบครัวได้ กฎหมายจึงกำหนดอายุของคู่สมรสเอาไว้โดยเอาเกณฑ์ที่พอจะเข้าใจถึงการกระทำของตนเองได้

(๒) เรื่องความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ในกรณีที่คู่สมรสเป็นผู้เยาว์ เหตุผลที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไขนี้ก็เพราะว่า เพื่อที่จะให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยตัดสินใจเลือก แนวทางชีวิตครอบครัวของผู้เยาว์ ความยินยอมนี้อาจทำเป็นหนังสือ ระบุชื่อคู่สมรสของทั้ง ๒ ฝ่าย และลงลายมือชื่อผู้ให้ความยินยอมหรืออาจทำโดยวิธีอื่น เช่น ให้ความยินยอมด้วยวาจา

(๓) กฎหมายห้ามชายหญิงที่มีคู่สมรสอยู่แล้วไปทำการสมรสกับคนอื่นอีก ซึ่งเรียกกันว่าการสมรสซ้อน เหตุผลก็คือ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นภายในครอบครัว เพราะกฎหมายในปัจจุบันรับรองความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น

(๔) ในกรณีที่หญิงที่สามีเดิมตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น เช่น หย่าขาดจากกันจะทำการสมรสครั้งใหม่ได้ต้องกระทำหลังจากที่การสมรสเดิมสิ้นสุดไป แล้ว ๓๑๐ วัน เหตุผลที่กฎหมายห้ามก็เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับบุตรที่เกิดมาว่าจะถือว่า เป็นบุตรของใคร (สามีใหม่หรือสามีเก่า)

(๕) กฎหมายห้ามคนวิกลจริต หรือ ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำการสมรส เหตุผลก็เพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตที่สงบสุข ถ้าให้แต่งงานกับคนบ้าแล้วก็อาจเกิดปัญหาได้

(๖) กฎหมายห้ามชายหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือโดยตรงลงมาทำการสมรสกัน เช่น พ่อสมรสกับลูก และรวมถึงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันด้วยเหตุผลก็เพราะในทางการแพทย์นั้น เขาพิสูจน์ได้ว่าถ้าคนที่มีสายเลือดเดียวกันสมรสกัน บุตรที่เกิดมาจะรับเอาส่วนที่ไม่ดีของทั้ง ๒ ฝ่ายมาทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นเด็กที่ผิดปกติ นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลทางสังคมด้วย คือ สภาพสังคมไทยเราก็ไม่ยอมรับการสมรสแบบนี้ด้วย

(๗) กฎหมายห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมทำการสมรสกัน เหตุผลที่กฎหมายห้าม ก็เพื่อมิให้เกิดความสับสนของสถานะของแต่ละฝ่ายว่า จะเป็นบุตรบุญธรรมหรือสามีภริยานั่นเอง

ผลของการฝ่าผืนเงื่อนไขการสมรส

ถ้ามีการจดทะเบียนสมรสไปโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขต่าง ๆ นี้ จะมีผลต่อการสมรส ดังนี้

(๑) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๑, ๒ การสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ (สมบูรณ์จนกว่าจะถูกเพิกถอน)

(๒) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๓, ๕, ๖ การสมรสนั้นตกเป็นโมฆะ

(๓) ถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ ๔, ๗ การสมรสนั้นยังมีผลสมบูรณ์ทุกประการแต่จะมีผลทางกฎหมายอย่างอื่น คือ

๓.๑ ถ้าเป็นการฝ่าฝืนในเงื่อนไขข้อ ๔ การสมรสสมบูรณ์และกฎหมายก็สันนิษฐานว่า เด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีใหม่

๓.๒ ถ้าเป็นการฝ่าฝืนในเงื่อนไขข้อ ๗ จะมีผล คือ ทำให้การเป็นบุตร บุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

ถ้าการสมรสได้ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการแล้ว ผลคือชายหญิงคู่นั้นก็เป็น สามีภริยากันตามกฎหมาย ทำให้เกิดความผูกพันทางครอบครัวหลายประการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

การสมรสที่เป็นโมฆียะ

คำว่า "โมฆียะ" หมายถึง การกระทำนั้นยังคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกเพิกถอน ดังนั้นการสมรสที่เป็นโมฆียะ จึงเป็นการสมรสที่ยังคงมีผลอยู่ตามกฎหมายจนกว่าจะมีการเพิกถอน

๑. เหตุที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะ

เหตุที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆียะก็ได้กล่าวมาบ้างแล้ว คือ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส และ เงื่อนไขในเรื่องความยินยอมของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีเหตุอื่นอีกที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ คือ

- การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล หมายถึง การสมรสนั้นทำไปเพราะถูกคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้อุบายหลอกลวงให้ทำการสมรส เช่น หลอกว่าตนเป็นคนมีฐานะดี แต่แท้จริงแล้วเป็นคนยากจน ดังนี้เป็นต้น แต่การใช้กลฉ้อฉลนี้จะต้องถึงขนาด คือถ้ามิได้มีการหลอกลวงแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ทำการสมรสด้วย แต่ถ้ากลฉ้อฉลนั้นไม่ถึงขนาดการสมรสก็ ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่ถ้ากลฉ้อฉลเกิดเพราะบุคคลที่ ๓ การสมรสจะตกเป็นโมฆียะ เมื่อคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะรู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นอยู่แล้วในขณะที่ทำการสมรส

- การสมรสได้ทำไปโดยถูกข่มขู่ การข่มขู่ หมายถึง การกระทำที่ในลักษณะบังคับ ให้เกิดความกลัวภัยจนทำให้อีกฝ่ายยอมทำการสมรสด้วย เช่น ขู่ว่าจะทำร้ายถ้าไม่ยอมไป จดทะเบียนด้วย เป็นต้น การข่มขู่นั้นจะต้องถึงขนาดด้วย กล่าวคือถ้าไม่มีการข่มขู่แล้วจะ ไม่มีการสมรสนั่นเอง และนอกจากนี้การข่มขู่ไม่ว่าคู่สมรสหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ข่มขู่ ถ้าถึงขนาดแล้วการสมรสย่อมเป็นโมฆียะทั้งนั้น

- การสมรสที่ได้กระทำไปโดยสำคัญผิดตัว กรณีนี้หมายความว่าตั้งใจจะสมรส กับคนคนหนึ่งแต่ไปทำการสมรสกับคนอีกคนหนึ่ง โดยเข้าใจผิด เช่น กรณีฝาแฝด

๒. ผลของการสมรสที่เป็นโมฆียะ

ดังที่กล่าวมาแล้วคือตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอน การสมรสนั้นก็ยังมีผลตามกฎหมายทุกประการ และถ้าต่อมามีการเพิกถอนการสมรสแล้ว การสมรสนั้นก็สิ้นสุดลงนับแต่เวลาที่เพิกถอนเป็นต้นไป

๓. ใครเป็นคนเพิกถอน

ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ศาลเท่านั้นที่จะเพิกถอนการสมรสได้โดยมีเหตุผลว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะของบุคคลที่มีผลกระทบต่อสังคมมาก การที่จะปล่อยให้คนทั่วไปเพิกถอนการสมรสได้เองแล้วย่อมจะเกิดปัญหาแน่ ๆ กฎหมายจึงให้องค์กรศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่า การสมรสกรณีใดบ้างที่จะต้องถูกเพิกถอน แต่อย่างไรก็ดี การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนได้ก็ต้องมีผู้ร้องขอต่อศาลก่อน ศาลจะยกคดีขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ซึ่งผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดตัวบุคคลไว้ ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

๔. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

๔.๑ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุของคู่สมรส ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีความหมายรวมถึงบิดามารดาหรือผู้ปกครองของชายหญิงคู่สมรส และยังรวมถึงผู้มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรสด้วย เพราะถ้าการสมรสมีผลอยู่ตนจะได้รับมรดกน้อยลง แต่ในกรณีบิดามารดานั้น ถ้าหากเป็นผู้ให้ความยินยอมเองด้วยแล้ว กฎหมายก็ห้ามร้องขอต่อศาล

๔.๒ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะขาดความยินยอมของบิดามารดาหรือ ผู้ปกครองแล้ว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองเท่านั้น

๔.๓ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ผู้มีสิทธิร้องขอคือคู่สมรสฝ่ายที่ถูก หลอกเท่านั้น

๔.๔ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการข่มขู่ ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่าย ที่ถูกข่มขู่เท่านั้น

๔.๕ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะสำคัญผิดตัว ผู้มีสิทธิร้องขอก็คือคู่สมรสฝ่ายที่สำคัญผิดเท่านั้น

๕. ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน

๕.๑ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องอายุต้องร้องขอ ให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ ถ้าไม่ร้องขอภายในเวลาดังกล่าวการสมรสย่อมสมบูรณ์มาตลอด และไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อไป

๕.๒ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขในเรื่องความยินยอม ต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนก่อนที่ชายหญิงจะมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือก่อนที่หญิงมีครรภ์ นอกจากนี้ในเรื่องนี้กฎหมายยังกำหนดอายุความไว้อีกด้วยคือ ต้องใช้สิทธิในอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการสมรสนั้น (อายุความ คือ ระยะเวลาที่จะต้องใช้สิทธิถ้าไม่ใช้ภายในกำหนด ก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว)

๕.๓ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะกลฉ้อฉล ระยะเวลาการขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉลแต่ต้องไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันทำการสมรส

๕.๔ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะ เพราะถูกข่มขู่ ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอนคือ ภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกข่มขู่

๕.๕ ถ้าการสมรสเป็นโมฆียะเพราะการสำคัญผิดในตัวคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ระยะเวลาขอให้ศาลเพิกถอน คือ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันทำการสมรส

๖. ผลของการที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน

ถือว่าการสมรสสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอน ดังนั้น ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างสามีภริยาก็เป็นอันสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ศาลพิพากษาเพิกถอนเป็นต้นไป และถ้าคู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องเพิกถอนนั้นรู้ถึงเหตุแห่งโมฆียะ ก็ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่อีกฝ่ายหนึ่งในความเสียหายที่ได้รับด้วย นอกจากนี้ ถ้าการเพิกถอนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง ไม่มีทรัพย์สินพอเลี้ยงชีพ คู่สมรสฝ่ายที่ถูกฟ้องก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่อีกฝ่ายด้วย

การสมรสที่เป็นโมฆะ

คำว่า "โมฆะ" นี้หมายความว่า เสียเปล่า ไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมายเลย ดังนั้น การสมรสที่เป็นโมฆะจึงไม่มีผลใด ๆ ตามกฎหมายเลย แต่เนื่องจากกฎหมายครอบครัว เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานะของบุคคล และเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อ ยและศีลธรรมอันดีของประชาชน กฎหมายจึงกำหนดว่า การสมรสที่เป็นโมฆะนั้นโดยทั่วไปแล้ว บุคคลใดจะนำขึ้นมากล่าวอ้างไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะได้แสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะเสียก่อน ยกเว้นกรณีการสมรสซ้อนกฎหมายกำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการกล่าวอ้างและศาลยังไม่พิพากษา แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสชายหญิงคู่นั้นก็ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ตามปกติ

๑. เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

๑.๑ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสซ้อน

๑.๒ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการห้ามสมรสกับบุคคลวิกลจริต

๑.๓ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องการสมรสระหว่างญาติสนิท๑.๔ การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข เรื่องความยินยอมของคู่สมรสเอง

๒. ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ

กฎหมายให้สิทธิแก่ "ผู้มีส่วนได้เสีย" หรือ "อัยการ" ก็ได้ คำว่า "ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าหากการสมรสนั้นยังไม่ถูกศาลสั่งแสดงความเป็นโมฆะเช่น ตัวคู่สมรสเอง หรือภริยาเดิมกรณีจดทะเบียนซ้อน

๓. ผลเมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะแล้ว

เมื่อศาลได้แสดงความเป็นโมฆะของการสมรสแล้ว คำพิพากษามีผลดังนี้

๓.๑ ในเรื่องทรัพย์สิน ถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตั้งแต่สมรส

๓.๒ ในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา กฎหมายเห็นว่าไม่มีทางที่จะให้กลับสู้สภาพเดิมได้ คือจะถือว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลยตั้งแต่แรกไม่ได้ ดังนั้นจึงให้มีผลนับแต่วันที่ศาลได้แสดงความเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตาม หากคู่สมรสฝ่ายที่สุจริตได้สิทธิใด ๆ มาจากการสมรสก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ไม่เสียสิทธินั้นไป เช่น สิทธิในการรับมรดกของสามีที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะย่อมไม่เสียไป หากตนสมรสโดยสุจริต

นอกจากนี้ถ้าหากชายหรือหญิงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายสมรสโดยสุจริต ฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายที่ไม่สุจริตได้ เช่น ชายมาหลอกหญิงว่าตนไม่เคยมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน กรณีนี้เมื่อศาลแสดงความเป็นโมฆะแล้ว หญิงสามารถเรียกค่าทดแทนจากชายได้ และถ้าฝ่ายที่สุจริตนั้นยากจนลง ไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากงานที่เคยทำ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลคู่สมรสฝ่ายนั้นก็ยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

๓.๓ ผลต่อบุตร เด็กที่เกิดระหว่างการสมรสที่เป็นโมฆะหรือเกิดภายใน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายสันนิษฐานว่า เป็นลูกของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา

เมื่อการสมรสนั้นมีการจดทะเบียนและไม่เข้าข้อห้ามตามกฎหมายข้ออื่นแล้ว การสมรสนั้นก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันต่าง ๆ ดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ซึ่งมีผลแยกได้ ๒ ประการคือ ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน และความสัมพันธ์ส่วนตัว

๑. ความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน

เมื่อชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกันตามกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย ที่มีอยู่ก่อนสมรสหรือจะมีขึ้นภายหลังจากการสมรสก็ต้องมีการจัดระบบใหม่ ซึ่งกฎหมายก็ได้แยกทรัพย์สินออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑.๑ สินส่วนตัว (สินเดิม)

๑.๒ สินสมรส

๑.๑ สินส่วนตัว กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

(ก) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น บ้าน ที่ดิน แก้ว แหวน เงิน ทอง ถ้ามีอยู่ก่อนสมรสกันแล้ว กฎหมายถือว่าก็เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นั้น

(ข) ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น

เครื่องใช้สอยส่วนตัว เช่น แว่นตา แปรงสีฟัน เป็นต้น เครื่องประดับกาย เช่น สร้อยคอ แหวน กำไล ต่างหู แต่ต้องพิจารณาถึง ฐานะด้วย ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพก็ต้องดูว่าอาชีพนั้นจำเป็นต้อง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เช่น เป็นหมอก็ต้องมีเครื่องมือตรวจโรค เป็นชาวนาก็ต้องมีเคียว เป็นต้น

(ค) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสไม่ว่าโดยการรับ มรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา ในกรณีนี้หมายถึงการได้มาในส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น กฎหมายจึงให้ถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละคนไป เช่น ถ้านายแดงเอ็นดูนางดำ ซึ่งเป็นภริยาของนายขาว ก็เลยยกที่ดินให้ ๑ แปลง กรณีเช่นนี้ การที่นายแดงให้ที่ดินแก่นางดำเป็น เพราะความถูกใจเฉพาะตัวของนายแดงกับนางดำ ไม่เกี่ยวกับนายขาวเลย ดังนั้นที่ดินแปลงนี้จึงเป็นสินส่วนตัว

ง) ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นกฎหมายให้ถือเป็นสินส่วนตัวของหญิง

นอกจากนี้ถ้าทรัพย์สินดังกล่าวได้เปลี่ยนสภาพไปเช่น ขายไปได้เงินมา เงินนั้นก็กลายมาเป็นสินส่วนตัวเช่นกัน หรือเอาเงินที่เป็นสินส่วนตัวไปซื้อของของนั้นก็กลายเป็นสินส่วนตัวด้วย

๑.๒ สินสมรส กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้

(ก) ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาในระหว่างสมรส หมายถึง ทรัพย์สินอื่น ๆ นอกจากที่เป็นสินส่วนตัวแล้ว ถ้าคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายใดได้มาก็ถือว่าเป็นสินสมรสทั้งสิ้น เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ เป็นต้น

(ข) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรม หรือโดยการให้ที่ทำเป็นหนังสือแต่พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นต้องระบุว่าให้เป็นสินสมรสด้วย กรณีนี้ต่างกับในเรื่องสินส่วนตัว เพราะว่าการให้หรือพินัยกรรมนั้นต้องระบุชัดว่า ให้เป็นสินสมรส ถ้าไม่ระบุก็ถือเป็นสินส่วนตัว

(ค) ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว คำว่า "ดอกผล" หมายถึงผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์นั้นซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากความผูกพันตามกฎหมายก็ได้ เช่น มีแม่วัว ลูกวัวก็เป็นดอกผลธรรมชาติ มีรถแล้วเอารถไปให้เขาเช่าค่าเช่าก็เป็นดอกผลที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย เป็นต้น

การจัดการทรัพย์สินของสามีภริยา

เมื่อทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแบ่งเป็น ๒ ประเภทดังกล่าวแล้วก็ต้องมาพิจารณา ว่าทรัพย์สินประเภทใด ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการ ซึ่งอำนาจจัดการนี้รวมถึงอำนาจในการจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์สินนั้นรวมถึงการฟ้องคดี และต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้นด้วย ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

(๑) สินส่วนตัว กฎหมายถือว่า สินส่วนตัวของใครคนนั้นก็เป็นผู้มีอำนาจจัดการ

(๒) สินสมรส เนื่องจากกฎหมายเห็นว่า สินสมรสเป็นทรัพย์สินร่วมกันระหว่างสามีภริยา จึงกำหนดให้ทั้ง ๒ ฝ่ายจัดการร่วมกัน แต่ก็อาจตกลงกันไว้ก่อนทำการสมรสก็ได้ ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ต้องจัดการร่วมกัน หากคนใดคนหนึ่งทำไปเองก็อาจให้อีกฝ่าย หนึ่งให้ความยินยอมได้ แต่ถ้าทำไปเองโดยพลการนิติกรรมที่ทำไปนั้นก็ไม่สมบูรณ์ และคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้

การให้ความยินยอมนี้กฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ดังนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้านิติกรรมที่จัดทำนั้น กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การให้ความยินยอมก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เช่น การทำสัญญาซื้อขายที่ดินกฎหมายบังคับว่า ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ความยินยอมในกรณีนี้ จึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย

๒. ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสามีภริยา

เมื่อมีการสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ชายหญิงคู่นั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย คือ

(๑) ต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา

(๒) ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ตามความสามารถและฐานะของตน

(๓) ภริยามีสิทธิใช้นามสกุลของสามีได้

(๔) ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถอีกฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และบุตร

คือ เด็กที่เกิดมาในระหว่างที่พ่อแม่ ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายใน ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย ผู้เป็นสามี

สิทธิหน้าที่ระหว่างบิดามารดา และบุตรชอบด้วยกฎหมาย

๑. พ่อแม่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร ในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์) ถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว พ่อแม่ก็ไม่จำเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร เว้นแต่บุตรจะเป็นคนพิการ และหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป

๒. บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่

๓. บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของพ่อ

๔. บุตรจะฟ้องบุพการีของตน เป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาไม่ได้ แต่สามารถร้องขอให้อัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนได้ กฎหมายห้ามเฉพาะการฟ้องแต่ไม่ห้ามในกรณีที่บุตรถูกฟ้อง แล้วต่อสู้คดี กรณีนี้ย่อมทำได้

๕. บุตรผู้เยาว์จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของพ่อแม่โดยพ่อแม่มีอำนาจ ดังนี้

๕.๑ กำหนดที่อยู่ของบุตร

๕.๒ เมื่อบุตรทำผิดก็ลงโทษได้ตามสมควร

๕.๓ ให้บุตรทำงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

๕.๔ เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรของตนไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

๕.๕ มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง

การสิ้นสุดการสมรส

เมื่อมีการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วการสมรสนั้นจะสิ้นสุดลงด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้

๑. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย

๒. เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนเพราะการสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะ (ขอให้ดูเรื่องการสมรสที่เป็นโมฆียะ)

๓. โดยการหย่าซึ่งการหย่านั้น ทำได้ ๒ วิธี

๓.๑ หย่าโดยความยินยอม คือ กรณีที่ทั้งคู่ตกลงที่จะหย่ากันได้เอง กฎหมายบังคับว่าการหย่าโดยความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย ๒ คน และถ้าการสมรสนั้นมีการจดทะเบียนสมรส (ตามกฎหมายปัจจุบัน) การหย่าก็ต้องไปจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอด้วย มิฉะนั้นการหย่าย่อมไม่สมบูรณ์

๓.๒ หย่าโดยคำพิพากษาของศาล กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งประสงค์จะหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการหย่าจึงต้องมีการฟ้องหย่าขึ้น เหตุที่จะฟ้องหย่าได้คือ

(๑) สามีอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๒) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นความผิด อาญาหรือไม่ ถ้าความประพฤติเช่นนั้นเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

- ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

- ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หากยังคงสถานะของความเป็นสามีภริยากันต่อไป

- ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา มาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

คำว่า "ประพฤติชั่ว" เช่น สามีเป็นนักเลงหัวไม้ เที่ยวรังแกผู้อื่น เล่นการพนัน หรือสูบฝิ่น กัญชา เป็นต้น

(๓) สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหมิ่นประมาทหรือ เหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร้ายแรงด้วย อีกฝ่ายจึงจะฟ้องหย่าได้

(๔) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิด ๑ ปี อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ การละทิ้งร้างนี้ หมายถึง การที่ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง แต่หากไม่เป็นการจงใจ เช่น ต้องติดราชการทหารไปชายแดน เช่นนี้ไม่ถือเป็นการทิ้งร้าง

(๕) ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกจำคุกเกิน ๑ ปี โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนในความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเห็นใจ และการเป็นสามีภริยากันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อยเกินควร อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้

(๖) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ ตามคำสั่งเป็นเวลาเกิน ๓ ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๗) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน ๓ ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๘) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง ตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง แต่การกระทำนั้นต้องถึงขนาดที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนโดยเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๙) สามีหรือภริยาเป็นบ้าตลอดมาเกิน ๓ ปี และความเป็นบ้านนั้น มีลักษณะยากที่จะหายได้ และความเป็นบ้าต้องถึงขนาดที่ จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๑๐) สามีหรือภริยาทำผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือ ในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ เช่น สามีขี้เหล้า ชอบเล่นการพนัน ย่อมทำหนังสือทัณฑ์บนไว้กับภริยาว่าตนจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก แต่ต่อมากลับฝ่าฝืน เช่นนี้ ภริยาฟ้องหย่าได้

(๑๑) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้โรคดังกล่าว ต้องมีลักษณะเรื้อรัง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(๑๒) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจ ร่วมประเวณีได้ตลอดกาล คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ผลของการหย่า

๑. ผลของการหย่าโดยความยินยอม

การหย่าโดยความยินยอมนั้น ถ้าการสมรสเป็นการสมรสที่ไม่ต้องจดทะเบียน (การสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย) การหย่าโดยความยินยอมก็มีผลทันทีที่ทำเป็นหนังสือถูกต้อง และลงลายมือชื่อทั้ง ๒ ฝ่าย พร้อมทั้งมีพยานรับรอง ๒ คน แต่ถ้าการสมรสนั้นเป็นการสมรสที่ต้องจดทะเบียน (ตามบรรพ ๕) การหย่าโดยความยินยอมนั้นนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ยังต้องไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภออีกด้วย การหย่าจึงจะมีผลตามกฎหมาย

๑.๑ ผลของการหย่าต่อบุตร คือ

(๑) ใครจะเป็นผู้ปกครองบุตร ตามกฎหมาย ให้ตกลงกันเองได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ หรือไม่ได้ตกลง ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

(๒) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ใครจะเป็นคนจ่ายก็เช่นกันคือให้ตกลงกันเองว่า ใครจะเป็นผู้จ่าย ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

๑.๒ ผลเกี่ยวกับสามีภริยา ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาสิ้นสุดลงทันที และไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต่อกันเลย

๑.๓ ผลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ให้แบ่งทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาคนละครึ่ง โดยเอาจำนวนทรัพย์ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่าเป็นเกณฑ์

๒. ผลของการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลตั้งแต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้จะยังไม่จดทะเบียนหย่าก็ตาม ดังนั้น ความเป็นสามีภริยาจึงขาดลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

๒.๑ ผลเกี่ยวกับบุตร

(๑) ใครเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ปกติแล้วฝ่ายชนะคดีจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง แต่ศาลอาจกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้

(๒) เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ศาลเป็นผู้กำหนด

๒.๒ ผลเกี่ยวกับคู่สมรส แม้กฎหมายจะถือว่า การสมรสสิ้นสุดลงนับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดก็ตาม แต่ในระหว่างคู่สมรสก็เกิดผลทางกฎหมายบางประการคือ

(๑) มีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้

- ค่าทดแทนจากสามีที่อุปการะหญิงอื่นหรือจากภริยาที่มีชู้และจากชายชู้หรือหญิงอื่นแล้วแต่กรณี

- ค่าทดแทนเพราะเหตุหย่าตามข้อ ๓.๒ (๓), (๔), (๘) โดยเป็นเพราะความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง

(๒) มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์คือ

- เหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงอย่างเดียว และ

- การหย่านั้นทำให้อีกฝ่ายยากจนลง เพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สิน หรือการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพนี้กฎหมาย กำหนดว่า จะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งมาในคดีที่ฟ้องหย่าด้วย มิฉะนั้นก็หมดสิทธิ

การสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายในปัจจุบัน

ถ้าการสมรสนั้นไม่ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว แม้จะมีการจัดการแต่งงานใหญ่โตเพียงไร กฎหมายก็ไม่รับรู้ด้วย จึงไม่เกิดผลใด ๆ ตามกฎหมาย แต่ถ้าชายหญิงนั้นอยู่กินกันเองจะมีผลดังนี้

๑. ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงคู่นั้น กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันจึงไม่มี

สิทธิและหน้าที่ใด ๆ ต่อกัน และยังเกิดผลประการอื่นอีก คือ

- เรื่องการใช้นามสกุล หญิงก็คงใช้นามสกุลเดิมของตน และเรื่องสถานะตามกฎหมายก็ยังคงถือว่า หญิงนั้นเป็นนางสาวอยู่

- เรื่องความผิดอาญา การที่ชายหญิงหลับนอนด้วยกัน กรณีนี้ถ้าหญิงยินยอมกัน ก็ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืน แต่ถ้าหญิงไม่ยินยอมแล้วชายใช้กำลังบังคับก็มีความผิดฐานข่มขืน

ส่วนความผิดอื่นที่กระทำต่อกัน เช่น ชายลักทรัพย์ของหญิง ก็ไม่ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมาย

๒. ในเรื่องทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินของใครมีอยู่ก่อนเป็นเป็นของคนนั้น แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของที่หามาได้ร่วมกัน แม้กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสมรส แต่ก็ถือว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นของทั้ง ๒ คนร่วมกัน คือเป็นกรรมสิทธิ์รวม ทั้งคู่ต่างมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นคนละเท่า ๆ กัน

๓. ผลเกี่ยวกับบุตรที่เกิดมา เมื่อกฎหมายไม่ถือว่ามีการสมรสเกิดขึ้น เด็กที่เกิดมาในส่วนของหญิง ย่อมถือว่า เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนอยู่ แต่ในด้านชายนั้น กฎหมายถือว่า ชายนั้นมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กคนนั้น แต่ยังมีวิธีการที่จะทำให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้นั้นได้ มี ๓ วิธีคือ

๓.๑ เมื่อบิดามารดาของเด็กนั้นสมรสกันภายหลังโดยชอบด้วยกฎหมาย คือจดทะเบียนสมรสกัน และทำตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย เด็กนั้นจะกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายนั้นทันที นับแต่วันที่บิดามารดาทำการสมรสกัน หรือ

๓.๒ โดยการจดทะเบียนรับเด็กนั้นเป็นบุตร แต่ตัวเด็กนั้นหรือมารดาเด็กต้อง ไม่คัดค้านว่าชายผู้ขอจดทะเบียนมิใช่บิดา ถ้ามีการคัดค้านก็ต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ขั้นตอนการจดทะเบียนก็คือ ชายจะไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนที่อำเภอ และนายทะเบียนจะแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดาเด็กว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าหากคัดค้าน ต้องคัดค้านภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่การแจ้งความนั้นไปถึง ถ้าไม่มีการคัดค้านนายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ แต่ถ้ามีการคัดค้านนายทะเบียนก็จะยังไม่รับจดทะเบียน และชายนั้นก็ต้องดำเนินคดีทางศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าศาลตัดสินให้จดทะเบียนได้ชายต้องนำคำพิพากษามาแสดงต่อนายทะเบียน นายทะเบียนก็จะจดทะเบียนให้ เมื่อมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแล้ว แม้ชายนั้นจะมิได้ทำการสมรสกับหญิงก็ตาม ให้ถือว่าชายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น และมีสิทธิหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย

๓.๓ โดยการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตร กรณีนี้ ตัวเด็ก หรือผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องชาย เพื่อให้ศาลพิพากษาชายนั้นเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ต้องมีพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะฟ้องศาลได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย

(๑) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยว กักขังหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในช่วงเวลาที่หญิงนั้นอาจจะตั้งครรภ์ได้

(๒) เมื่อมีการลักพาหญิงผู้เป็นแม่ของเด็กไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวง ร่วมหลับนอนกับผู้หญิงผู้เป็นแม่เด็กในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(๓) เมื่อมีเอกสารของพ่อแสดงว่า เด็กนั้นเป็นลูกของตน เช่น พ่อยื่นคำร้องแจ้งเด็กเกิดในทะเบียนบ้าน โดยแจ้งว่าเป็นบุตรของตน หรืออาจเป็นกรณีลงชื่อฝากเด็กเข้าโรงเรียน โดยระบุว่าเป็นบุตรของตนก็ได้

(๔) เมื่อปรากฎในทะเบียนคนเกิดว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชาย โดยชายเป็นผู้ไปแจ้งการเกิดเอง หรือการจดทะเบียนนั้นได้กระทำโดยรู้เห็นยินยอมของชาย

(๕) เมื่อพ่อแม่ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่หญิงอาจตั้งครรภ์ได้

(๖) เมื่อชายได้มีการหลับนอนกับหญิงผู้เป็นแม่ในระยะเวลาที่อาจตั้งครรภ์ ได้และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของชายอื่น

(๗) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นลูก ซึ่งต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น ชายนั้นให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของตน เป็นต้น

เมื่อมีข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเพียงประการเดียว ก็สามารถฟ้องคดีได้แล้ว แต่การฟ้องคดีต้องฟ้องภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายคือ ถ้าเด็กบรรลุนิติภาวะแล้วต้อง ฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ (๒๐ ปีบริบูรณ์) แต่ถ้าเด็กตายในระหว่างที่ยังมีสิทธิฟ้องคดีอยู่ ก็ให้ผู้สืบสันดานของเด็กฟ้องแทน ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กรู้ข้อเท็จจริงที่จะ ฟ้องคดีได้ก่อนวันที่เด็กตาย ก็ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่เด็กตาย แต่ถ้ามารู้หลังจากที่เด็กตายแล้วก็ต้องฟ้องภายใน ๑ ปีนับแต่วันที่รู้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง คือ ในกรณีที่เด็กอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ เด็กสามารถฟ้องคดีได้เอง แต่ถ้าเด็กยังอายุไม่ถึง ๑๕ ปี ก็สามารถให้ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องแทนได้ และผลของการฟ้องคดีนี้ถ้าฝ่ายเด็กเป็นผู้ชนะคดี เด็กนั้นก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายนับตั้ง แต่เวลาที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด


การตาย (การแจ้งตาย)


ตายเมื่อใด

คนเราทุกคนเกิดมาต้องตายด้วยกันทุกคน ผิดกันอยู่แต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็ว เท่านั้น แต่ก่อนนี้ปัญหาที่ว่าตายเมื่อใดนั้น ไม่สู้จะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจแล้ว ก็ถือว่าคนคนนั้นตายแล้ว แต่ปรากฎว่าในปัจจุบันนี้ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น หัวใจที่หยุดเต้นแล้วก็อาจทำให้เต้นใหม่อีกได้ โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย หรือการหายใจที่หยุดแล้ว ก็อาจทำให้หายใจได้ใหม่อีกได้ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่ว่าคนเราตายเมื่อไรนั้นจึงเริ่มมีปัญหามากขึ้น หลักการเดิมที่ว่า คนเราตายเมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจึงยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องอาศัยหลักการอื่น ๆ อีก ในเรื่องนี้มีความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่น่าจะถูกต้อง ท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องที่ว่าคนเราตายเมื่อใดนั้นไว้ดังนี้คือ การที่จะพิจารณาว่าคนเราตายเมื่อใดนั้น ให้ดูการทำงานของร่างกาย ๓ ส่วนคือ สมอง หัวใจ และการหายใจ กล่าวคือ สมองหยุดทำงาน โดยตรวจด้วยการวัดคลื่นสมอง หัวใจหยุดเต้น และหายใจเองไม่ได้ ทั้ง ๓ ประการนี้ ประกอบกันจึงจะถือว่าคนคนนั้นได้ตายแล้ว เราจะรู้กันไปทำไมว่า คนเราตายเมื่อใด

เมื่อคนคนหนึ่งตายไปแล้วนั้น มรดกของเขาย่อมตกไปยังลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกบุคคลที่ตายนั้นว่า "เจ้ามรดก" ส่วนลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ที่รับมรดกมานั้น เราเรียกว่า "ทายาท" สำหรับในเรื่องการรับมรดกนั้นมีหลักอยู่ว่าทายาทที่มีสิทธิจะรับมรดกได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กล่าวคือทายาทคนใดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว เขาก็จะไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกจากเจ้ามรดก ดังนั้นปัญหาในเรื่องที่ว่า ตายเมื่อใดนั้นจึงมีความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าทายาทคนใดตายหลังเจ้ามรดกแม้เพียง ๕ นาที เขาก็จะมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก

การแจ้งตาย

ในกรณีที่มีคนตายเกิดขึ้น กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้บุคคลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้น คือ กรณีคนตายในบ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ ที่มีการตายเกิดขึ้น ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตาย แต่ถ้าไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศบเป็นผู้แจ้ง

ตัวอย่าง นายดำบิดาของนายแดงได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคชราในบ้าน ดังนี้เราก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ถ้านายแดงเป็นเจ้าบ้าน นายแดงก็มีหน้าที่ต้องแจ้ง แต่ถ้าบิดานายแดงเป็นเจ้าบ้าน ก็เป็นกรณีของการที่ไม่มีเจ้าบ้าน ดังนั้น ถ้าแดงเป็นผู้พบศพ แดงก็ต้องเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งการตายของนายดำ ต่อนายทะเบียนท้องที่

กรณีคนตายนอกบ้าน ให้ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ ที่มีการตายเกิดขึ้น หรือท้องที่ที่พบศพ หรือท้องที่ที่พึงจะแจ้งได้ในโอกาสแรก ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้

ตัวอย่าง นายแดงกับนายขาวเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ จังหวัดนครนายกด้วยกัน ปรากฎว่านายขาวเป็นไข้ป่าตาย ในกรณีนี้นายแดงเป็นผู้ที่ไปด้วยกับนายขาวผู้ตาย ดังนั้น นายแดงจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย โดยแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่จังหวัดนครนายก หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่เขาใหญ่ซึ่งสะดวกกว่าก็ได้

ลูกตายในท้อง

ลูกตายในท้อง หมายถึง ลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกิน ๒๘ สัปดาห์ และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าลูกนั้นอยู่ในครรภ์มารดาไม่ถึง ๒๘ สัปดาห์ แม้จะคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของลูกตายในท้อง

ผู้ที่มีหน้าที่ในการแจ้ง กรณีที่มีลูกตายในท้องดังนี้ คือ (เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา เกิน ๒๘ สัปดาห์หรือเกิน ๑๙๖ วัน) ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด นายทะเบียนก็จะออกบัตรลูกตายในท้องไว้เป็นหลักฐาน

ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ ลูกตายในท้องนั้น หรือแจ้งต่อท้องที่ที่อาจแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๒๔ ชั่วโมงนัลแต่เวลาคลอด หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้

กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตายในบ้านหรือนอกบ้านก็ตาม เมื่อผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งได้ไปแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกสารที่เราเรียกว่า มรณบัตรให้ ซึ่งมรณบัตรนี้ก็คือเอกสารแสดงถึงการตายของบุคคลที่นายทะเบียนผู้รับแจ้ง การตายออกให้แก่ผู้แจ้งเพื่อนำไปแสดงต่อผู้เกี่ยวข้องนำไปจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นต้น

โทษ สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งการตาย แต่ฝ่าฝืนไม่แจ้งภายในระยะ เวลาที่กฎหมายกำหนดอาจจะถูกปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท

มรดก (ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของผู้ตายให้แก่ทายาท)

ปัจจุบันกฎหมายมีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย และกฎหมายในเรื่องมรดกนี่ ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจ เพราะว่าถ้าไม่มีกฎหมายมรดกแล้ว ก็จะทำให้สังคมวุ่นวาย เช่น อาจมีการฆ่ากันตาย เพราะแย่งทรัพย์สมบัติของผู้ตายเกิดขึ้น มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ต่างคนก็ต่างอยากได้ทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเองมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร ดังนั้น กฎหมายจึงต้องเข้ามาวางหลักในเรื่องมรดกของผู้ตาย ว่าภายหลังจากผู้ตาย ตายแล้วทรัพย์สมบัติของเขาตกแก่ผู้ใด เพื่อมิให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างญาติของผู้ตายด้วยกันเอง แต่การใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของไทยนั้นไม่ใช้กับ ๔ จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในกรณีที่โจทก์และจำเลยเป็นคนอิสลาม

๑. มรดกได้แก่อะไรบ้าง

"มรดก" หรือ "กองมรดก" ของผู้ตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ขณะตาย แต่ไม่ใช่ว่า มรดกของผู้ตายมีเพียงทรัพย์สินของผู้ตายเท่านั้น มรดกของผู้ตายยังรวมตลอดถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายซึ่งมิใช่ทรัพย์สินของผู้ตาย แต่บางกรณี สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตายอาจไม่ใช่มรดกก็ได้ ถ้า สิทธิ หรือหน้าที่ต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายที่ต้องทำเอง สิทธิหน้าที่และความรับผิดที่เป็นมรดกของผู้ตาย เช่น สิทธิหน้าที่ตามสัญญากู้ยืม ซื้อขาย จำนำ จำนองหรือการละเมิด ตัวอย่างเช่น บิดานาย ก ทำสัญญาจะขายนาให้กับ ค ต่อมา ค ได้ชำระเงินให้กับบิดานาย ก เสร็จเรียบร้อยแล้ว และระหว่างนั้นบิดานาย ก ตาย ค จึงฟ้องขอให้บังคับ ก ปฏิบัติตามสัญญาจะขายนั้น ดังนี้ศาลก็จะต้องพิพากษาให้ ก ผู้เป็นทายาทของบิดาต้องปฏิบัติตามที่นาย ค เรียกร้อง คือ ต้องไปจดทะเบียนโดยที่นาให้กับนาย ค ตามสัญญานั่นเอง ส่วนสิทธิและหน้าที่และความรับผิดที่ไม่อาจถือว่าเป็นมรดกของผู้ตาย เพราะเป็นการเฉพาะตัวที่ผู้ตายต้องกระทำเองนั้น เช่น ก เป็นนักเขียนภาพ ข จึงไปจ้างให้นาย ก เขียนภาพตนเอง ต่อมาขณะนาย ก เขียนภาพยังไม่เสร็จ ก ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ข จะไปบังคับให้ทายาทซึ่งอาจจะเป็นลูกของนาย ก วาดภาพนั้นแทนบิดาตนเองมิได้ เพราะถือว่าการวาดภาพนั้นเป็นการเฉพาะตัวของนาย ก เองที่จะต้องใช้ฝีมือตนเองกระทำขึ้นมา แต่ถ้า ข ไปให้ลูกของนาย ก วาดภาพให้ เพราะเห็นว่าลูกของนาย ก ก็เป็นนักเขียนเช่นเดียวกัน อย่างนี้ต้องถือว่าระหว่างลูกของนาย ก และ ข ได้มีการทำสัญญาต่อกันใหม่โดยไม่ถือว่าลูกนาย ก กระทำการในฐานะทายาทของนาย ก

๒. มรดกตกทอด เมื่อใด

มรดกจะตกทอดไปยังทายาททันที เมื่อเจ้ามรดกตาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่มีข้อสังเกตว่า การตายของบุคคลนั้นในทางกฎหมายมีได้ ๒ อย่าง คือ ตายโดยธรรมชาติ และตายโดยผลของกฎหมาย

"การตายโดยผลของกฎหมาย" หรือที่เรียกว่า "สาบสูญ" คือการที่มีทายาทของบุคคลนั้นหรือพนักงานอัยการไปร้องต่อศาลว่า บุคคลนั้นได้หายสาบสูญไปจากถิ่นที่อยู่ เป็นเวลา ๕ ปี โดยไม่มีใครทราบข่าวของบุคคลนั้นเลย หรือไปอยู่ในสมรภูมิแห่งสงคราม หรือไปตกในเรืออับปาง เมื่อนับเวลาหลังจากที่หมดสงครามแล้ว นับจากเรืออับปางได้สิ้นสุดไป แล้วเป็นเวลา ๒ ปี และไม่มีใครรู้ว่าบุคคลนั้นอยู่ที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ถ้าศาลสั่งว่าบุคคลนั้นเป็น "คนสาบสูญ" ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเช่นกัน และจะมีผลให้ "มรดก" ตกทอดไปยังทายาทเช่นเดียวกับการตายโดยธรรมชาติ

๓. ใครมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย

เมื่อบุคคลตายทรัพย์สินหรือมรดกของผู้ตายจะตกทอดได้แก่ใครนั้น กฎหมายให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผู้ตายเป็นหลักว่าจะยกทรัพย์สินให้แก่ใคร ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดให้มรดกตกทอดได้แก่ทายาทที่เป็นลูกหรือญาติพี่น้องของผู้ตาย ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกกฎหมายจึงแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม

๓.๑ ทายาทโดยธรรม

ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายได้แก่ ญาติ และคู่สมรสคือ สามี หรือภริยาของผู้ตายญาติ กฎหมายได้จัดการลำดับญาติไว้แล้ว โดยให้ญาติสนิทที่สุดมีสิทธิได้รับมรดกเหนือกว่าญาติที่ห่างออกไป หากญาติสนิทที่สุดยังมีชีวิตอยู่ ญาติที่สนิทน้อยลงไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย ตามหลักที่ว่าญาติสนิทพิชิตญาติห่าง สำหรับลำดับญาตินั้น กฎหมายได้กำหนดไว้เรียงตามลำดับความสนิทดังนี้ คือ

ลำดับที่ ๑ ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตรของผู้ตาย ซึ่งอาจจะได้แก่บุตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ(ก) บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตรประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) บุตรที่เกิดจากบิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) กับมารดาซึ่งบิดามารดานั้นได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย

(๒) บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก กล่าวคือ เป็นบุคคลที่เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม(๓) บุตรซึ่งบิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) กับมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากที่บุตรได้เกิดแล้ว

(ข) บุตรนอกกฎหมาย หมายถึง บุตรที่บิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา แต่มีพฤติการณ์ที่เปิดเผยบางอย่างของบิดาที่เป็นการรับรองว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน เช่น อนุญาตให้เด็กใช้นามสกุลของคน หรือเป็นธุระพาบุตรไปฝากเข้าโรงเรียน หรือใครถามก็บอกว่าเป็นบุตรของคน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีพฤติการณ์ดังเช่นว่านี้ เด็กนั้นก็มีสิทธิรับมรดกของบิดา (เจ้ามรดก) เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

ลำดับที่ ๒ บิดามารดาของเจ้ามรดก ในกรณีของบิดา บิดานั้นจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กล่าวคือ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดก) แม้ว่าจะได้มีพฤติการณ์รับรองบุตรนอกกฎหมายว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรตน ดังกล่าวในข้อ ข. ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรตน ส่วนมารดานั้นย่อมเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเสมอ ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนสมรสกับบิดาของเจ้ามรดกหรือไม่ก็ตาม

ข้อสังเกต

(๑) บิดามารดาบุญธรรม ไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม

(๒) ในกรณีที่บิดาหรือมารดาทำการสมรสใหม่ หลังจากขาดจากการสมรสแล้วแม่เลี้ยง หรือพ่อเลี้ยงย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกเลี้ยง

(๓) ลูกเขยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อตา หรือแม่ยาย และพ่อตาแม่ยายก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกเขยเช่นกัน

(๔) ลูกสะใภ้ไม่มีสิทธิรับมรดกของแม่สามีหรือพ่อสามี และแม่สามีหรือพ่อสามีก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกสะใภ้เช่นกัน

ลำดับที่ ๓ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก คือ พี่น้องเจ้ามรดกที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกันลำดับที่ ๔ พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือพี่น้องร่วมแต่มารดาของเจ้ามรดก (หรือที่เรียกลูกติดพ่อลูกติดแม่)

ลำดับที่ ๕ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดก หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนับถือว่าเป็นญาติ

ลำดับที่ ๖ ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก หมายถึง ผู้ที่เป็นลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่แต่เพียงเรียกว่า ลุง ป้า น้า อา

การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรม

(ก) การแบ่งมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสในขณะตายในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรส เช่น แต่งงานโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือคู่สมรสตายไปก่อน หรือจดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีเช่นนี้ก็ต้องแบ่งมรดกกันในระหว่างญาติเท่านั้นในการพิจารณาว่า ทายาทประเภทญาติจะได้รับมรดกเพียงใดมีดังนี้ กฎหมายได้ให้ทายาทในลำดับที่ ๑ กับลำดับที่ ๒ ได้รับมรดกร่วมกันก่อน ถ้าไม่มีบุคคลทั้งสองลำดับ ทายาทในลำดับที่ ๓ จึงจะได้รับมรดก เช่น เจ้ามรดกตาย ในขณะตายเจ้ามรดกไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีลูก มีแต่พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน และมีลุงอีก ๑ คน ตามตัวอย่าง พี่น้องจึงมีสิทธิได้รับมรดกเพียงลำดับเดียว ส่วนลุงไม่ได้ เพราะเป็นทายาทในลำดับที่ห่าง

(ข) กรณีที่มีคู่สมรสอยู่ขณะตายคู่สมรสของเจ้ามรดกนี้ หมายถึง สามีหรือภรรยาของเจ้ามรดกที่ได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้น หากเป็นคู่สมรสของเจ้ามรดกที่เป็นแต่เพียงอยู่กินกับเจ้ามรดกฉันสามีภรรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย คู่สมรสนั้นย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย แต่ถ้าหากเจ้ามรดกต้องการให้คู่สมรสของตนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีสิทธิได้รับมรดกของตน ก็จะต้องไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้อง หรืออาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับคู่สมรสนั้นก็ได้คู่สมรสของเจ้ามรดกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นก็ย่อมมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเสมอร่วมกับทายาทประเภทญาติที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกทุกลำดับ เพียงแต่ว่าส่วนแบ่งของคู่สมรสนั้นจะมากน้อยต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเจ้ามรดกมีญาติในลำดับต้น ๆ คู่สมรสก็จะได้ส่วนแบ่งน้อย แต่ถ้าเจ้ามรดกมีแต่ญาติ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับท้าย ๆ คู่สมรสก็จะได้รับส่วนแบ่งมรดกมากขึ้นโดยกฎหมายไว้วางอัตราส่วนมากน้อยไว้แล้ว

การรับมรดกเทนที่ในกรณีที่ทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๑ (ผู้สืบสันดาน) ลำดับที่ ๓ (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน กับเจ้ามรดก) ลำดับที่ ๔ (พี่น้องร่วมบิดาหรือพี่น้องร่วมแต่มารดาของเจ้ามรดก) หรือลำดับที่ ๖ (ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก) ได้ตายไปก่อนเจ้ามรดก หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดก (ซึ่งจะอธิบายต่อไป) โดยถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าหากทายาทในลำดับ ดังกล่าวมีผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอยู่ (คือ บุตรของเจ้ามรดก ซึ่งไม่ร่วมถึงบุตรบุญธรรม) ก็ให้ผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตนั้นเข้ามารับมรดกเทนที่ได้ ถ้าผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตนั้นตายก่อนเจ้ามรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ต่อไปอีก จนกว่าจะหมดสายโลหิต (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๓๙)

ตัวอย่าง นานสมพงษ์ มีบุตรชื่อ นายสมศักดิ์ นายสมศักดิ์ มีบุตรชื่อ นายสรพงษ์ต่อมานายสมศักดิ์ตาย และหลังจากนั้นนายสมพงษ์ตาย ปัญหามีว่าถ้าหากเราจะแบ่งมรดกของนายสมพงษ์ (ไม่ใช่ของนายสมศักดิ์) มรดกของนายสมพงษ์จะตกได้แก่ใคร?คำตอบก็คือ มรดกของนายสมพงศ์ ตามธรรมดาแล้วย่อมตกได้แก่บุตรคือ นายสมศักดิ์ แต่นายสมศักดิ์ตายไปก่อนนายสมพงษ์ที่เป็นเจ้ามรดก แต่ในกรณีนี้นายสมศักดิ์ยังมีผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอยู่คือ นายสรพงษ์ ดังนั้นนายสรพงษ์จึงเข้ารับมรดกของนายสมพงษ์ได้ โดยการเข้ารับมรดกแทนที่ คือเข้าแทนที่นายสมศักดิ์ได้ ตามมาตรา ๑๖๓๙ ดังกล่าว สำหรับทายาทในลำดับที่ ๓, ๔, และ ๖ ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน

๓.๑ ผู้รับพินัยกรรมผู้รับพินัยกรรม หมายถึง บุคคลซึ่งผู้ตายหรือเป็นบุคคลภายนอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้รับพินัยกรรมอาจเป็นญาติพี่น้องของผู้ตายก็ได้ พินัยกรรมนั้นกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้

ข้อสังเกตหนังสือที่จะเป็นพินัยกรรมนั้น จะต้องมีข้อความระบุว่าจะยกทรัพย์สินให้ผู้ใดเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ถ้าไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้ หนังสือนั้นอาจเป็นหนังสือยกทรัพย์สินให้โดยเสน่ห์หาก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้

แบบของพินัยกรรมกฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้ ๓ แบบ ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำแบบใดแบบหนึ่งก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบแบบที่ ๑ พินัยกรรมแบบธรรมดา มีหลักเกณฑ์ในการทำดังต่อไปนี้๑. ต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ เจ้ามรดกจะเขียนหรือพิมพ์เองก็ได้หรือให้คนอื่นเขียนหรือพิมพ์แทนก็ได้๒. ต้องลง วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น๓. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเซ็นชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนพร้อมกัน มีข้อสังเกตว่า ถ้ามีพยานอย่างน้อย ๒ คน ลงลายมือชื่อเป็นพยานในขณะทำพินัยกรรม และได้เห็นผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อก็ถือได้ว่าพยาน ๒ คนนั้นได้รับรองการพิมพ์ลายนิ้วมือไปด้วยในตัว ไม่จำต้องมีพยาน ๒ คน ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกชุดหนึ่งต่างหากอีก (ฎ ๑๑๑/๒๔๙๗, ฎ ๖๑๙/๒๔๙๑)

ตัวอย่างแบบพินัยกรรมแบบธรรมดา

พินัยกรรม

เขตภาษีเจริญ กทม.

วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๔

ข้าพเจ้า นายเกิด มั่งมีทรัพย์ อายุ ๕๐ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ ๑๑ ซอยเพชรเกษม ๓๔ เขตภาษีเจริญ กทม. ขอทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

๑. ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑ ตำบลบางจาก เขตภาษีเจริญ กทม. พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งของภายในสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอยกให้แก่นายสำราญมั่งมีทรัพย์ บุตรชายของข้าพเจ้า

๒. ข้าพเจ้าขอตั้งให้นางสดสวย มั่งมีทรัพย์ ภรรยาของข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมรดกทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าทั้งหมด และจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรมฉบับนี้ในขณะที่ข้าพเจ้าทำพินัยกรรมฉบับนี้ มีสติสัมปชัญญะดี มีสุขภาพสมบูรณ์ และมิได้มีผู้ใดมาข่มขู่หรือหลอกลวงให้ข้าพเจ้าทำพินัยกรรมฉบับนี้แต่อย่างใด พินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นเพียงฉบับเดียว ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน และข้าพเจ้าได้มอบพินัยกรรมฉบับนี้ให้กับนางสดสวย มั่งมีทรัพย์ เก็บรักษาไว้

ลงชื่อ......(ลายเซ็น)......ผู้ทำพินัยกรรม

(นายเกิด มั่งมีทรัพย์)

ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ได้นั่งเป็นพยานในการทำพินัยกรรม และขอรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อข้างบนนี้ต่อหน้าข้าพเจ้าทั้ง ๒ คนนี้พร้อมกัน

ลงชื่อ......(ลายเซ็น)......ผู้ทำพินัยกรรม

(นายสมาน ลมโชย)

ลงชื่อ......(ลายเซ็น)......ผู้ทำพินัยกรรม

(นายสำรวย ร่ำรวยทรัพย์)

แบบที่ ๒ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ หลักเกณฑ์

๑. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมทั้งฉบับ ด้วยลายมือของตนเอง

๒. ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น

๓. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรม จะต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมนั้นจะลงลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้

ข้อสังเกต พินัยกรรมแบบที่ ๒ นี้ไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมแต่อย่างไร

แบบที่ ๓ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง เป็นพินัยกรรมที่ทางบ้านเมืองเป็นผู้จัดทำให้ คือต้องไปติดต่อขอทำพินัยกรรมแบบนี้ที่ที่ว่าการอำเภอให้จัดการทำให้ โดยเป็นหน้าที่ของนายอำเภอ สำหรับขั้นตอนในการทำพินัยกรรมแบบนี้มีดังต่อไปนี้คือ

๑. ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตน แก่นายอำเภอ

๒. นายอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้และอ่านข้อความนั้นให้พยานและผู้ทำพินัยกรรมฟัง

๓. เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

๔. ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนี้ได้ทำขึ้นถูกต้องตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ข้างต้นแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญดังนั้น พินัยกรรมแบบนี้ ขั้นตอนในการทำต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะจัดการให้ การทำพินัยกรรมแบบนี้จึงสะดวกและไม่ผิดพลาด เพราะผู้ทำพินัยกรรมเพียงแต่แจ้งความประสงค์ให้นายอำเภอทราบว่าต้องการจะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองก็เพียงพอแล้ว ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะจัดการให้ ซึ่งการทำพินัยกรรมแบบนี้อาจจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ โดยไปยื่นคำร้องต่อนายอำเภอ

แบบที่ ๔ พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยมีลักษณะเป็นเอกสารลับกล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมกับผู้เขียนพินัยกรรม (ในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้เขียน) เท่านั้นที่จะรู้ว่าพินัยกรรมนั้นมีข้อความอย่างไร ซึ่งพินัยกรรมแบบนี้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการทำดังนี้คือ

๑. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม

๒. ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้นแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น

๓. ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอีกอย่างน้อย ๒ คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย

๔. เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น

ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม

๑. ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรม รวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมแบบต่าง ๆ นั้นจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้

๒. บุคคลที่มีสาถนะดังต่อไปนี้จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้คือ

ก. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ข. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

ค. บุคคลที่หูหนวกเป็นใบ้หรือตาบอดทั้ง ๒ ข้าง

๔. ทายาทอาจไม่มีสิทธิได้รับมรดก

๔.๑ การตัดไม่ให้รับมรดก

ถ้าเจ้ามรดกไม่ต้องการให้ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติหรือคู่สมรสของตนได้รับมรดกก็อาจจะทำการตัดสิทธิบุคคลเหล่านั้นมิให้รับมรดกของตนเลยก็ได้ โดยกฎหมายบัญญัติวิธีการไว้ ๒ วิธีคือ

วิธีแรก เจ้ามรดกทำเป็นหนังสือซึ่งมีข้อความกำหนดว่าขอตัดทายาทโดยธรรมคนไหนของตนมิให้ได้รับมรดกและนำหนังสือนั้นไปมอบให้แก่นายอำเภอ

วิธีที่ ๒ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมขึ้นฉบับหนึ่งโดยระบุข้อความในพินัยกรรมว่า ขอตัดทายาทโดยธรรมคนไหนไม่ให้ได้รับมรดกการแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมของตนมิให้ได้รับมรดกนี้ เมื่อเจ้ามรดกกระทำการดังกล่าวไม่ว่าโดยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วทายาทโดยธรรมที่ถูกตัดย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย

๔.๒ การสละมรดก

ในบางกรณีทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นญาติหรือคู่สมรสกับทายาท ผู้รับพินัยธรรมอาจจะไม่ต้องการทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทายาทนั้น ๆ ก็จะต้องทำการสละมรดกตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้คือวิธีแรก การทำเป็นหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ระหว่างทายาทด้วยกันเองว่าตนขอสละมรดก ซึ่งทายาทผู้สละอาจจะได้ค่าตอบแทน แต่ค่าตอบแทนที่ได้นั้นจะต้องไม่ใช่ค่าตอนแทนที่นำมาจากกองมรดก เพราะมิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ใช่การสละมรดก

๔.๓ การถูกกำจัดมิให้รับมรดก

ในบางครั้ง ถ้าทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกนั้นมีความประพฤติไม่สมควร หรือมีพฤติการณ์ที่เอาเปรียบทายาทคนอื่น กฎหมายจึงเห็นว่าทายาทผู้กระทำการดังกล่าวไม่สมควรจะได้รับมรดกจึงบัญญัติตัดสิทธิทายาทคนนั้นไว้ใน ๒ กรณี คือ๑. ถ้าทายาทนั้นทำการยักย้ายบปิดบังทรัพย์มรดก เช่น นำทรัพย์มรดกไปซ่อนเสียป”ดบังไม่ให้ทายาทอื่นรู้ว่าตนครอบครองทรัพย์มรดกอยู่ เป็นต้น ซึ่งหากมีพฤติการณ์เช่นนี้แล้วทายาทผู้นั้นย่อมถูกกฎหมายตัดสิทธิไม่ให้รับมรดก ซึ่งการตัดสินสิทธินั้นจะมากน้อยเพียงใดมีรายละเอียดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๖๒. ถ้าทายาทนั้นประพฤติตนไม่สมควร กล่าวคือมีพฤติการณ์ไม่สามควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ฆ่าเจ้ามรดก ข่มขู่เจ้ามรดกให้ทำพินัยกรรม ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งหากทายาทผู้นั้นมีพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะถูกกฎหมายตัดสิทธิมิให้รับมรดกเลย สำหรับพฤติการณ์ต่าง ๆนั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๖

๕. อายุความ

ทายาทผู้ใดรับมรดกอาจตกลงแบ่งมรดกกันเองก็ได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล โดยทำสัญญาตกลงกันเองว่าจะให้ใครได้มรดกส่วนไหนบ้างถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องฟ้องขอให้ศาลแบ่งมรดกให้ภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกตายมิฉะนั้นท่านว่าอาจจะเสียสิทธิเพราะคดีขาดอายุความ

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

การสมัคร บล็อกเกอร์


1. เข้าไปที่ http://www.blogger.com/ โดยใช้รหัสของ Gmail ซึ่งเมื่อเรามีรหัสของ จีเมล์แล้ว เราไม่ต้องทำการกรอกสมัครสมาชิกอีก ( ใส่ชื่อ Gmail (เช่น xxx@gmail.com) ของคุณ กับ Password เพื่อ Sign In เข้าสู่การสร้าง Blog )

2.หลังจาก Sign In เข้ามาแล้วก็จะเจอกับหัวข้อ ลงทะเบียนใช้ Blogger ให้เราใส่ * ชื่อที่ใช้แสดง * คลิ๊กยอมรับ แล้วกด > ดำเนินการต่อ

3. ใส่ชื่อเวป Blog (ในที่นี้ให้ทุกคนตั้งว่า Empowerism จะดีที่สุด เผื่อมีคน search หาจะได้เพิ่มโอกาส
ในการพบเห็นเวปของคุณ) แล้วก็ตั้งชื่อลิ้งก์ของคุณให้เรียบร้อย (เช่น http://(เติมชื่อที่คุณต้องการ).blogspot.com/ แล้วกด > ดำเนินการต่อ

4. เลือกหน้าเวปในแบบที่คุณชอบ

5. เริ่มโพสต์บทความกันเลย Download บทความทั้งหมดได้ที่นี่ (ถ้าหากเกิดปัญหาโหลดไม่ได้ให้ข้อ File บทควาทกับอัพลายของท่าน) หลังจาก Download บทความมาแล้ว ให้คุณแตก File บทความออกมาก่อน โดยการคลิกควาที่ File ชื่อ CodeBlog หลังจากนั้นให้เลือก Extract Here ดังภาพตัวอย่าง


พอแตก File ออกมาแล้วให้คุณคลิกเข้าไป ก็จะเจอกับบทความที่มาในรูปแบบของ Notepad ทั้ง 11 หัวข้อดังภาพ หลังจากนั้นคลิกเข้าไปในบทความเพื่อ Copy Code (เริ่มจากบทความที่ 1 ตามลำดำเลขของบทความที่กำหนดมาให้แล้ว) ซึ่งอันแรกก็คือ EMPOWERism Center

ตัวอย่างหน้าต่าง Notepad

หลังจากนั้นก็เอา Code ที่ Copy มานั้น Past (วาง) ลงไปในช่องสำหรับใส่ข้อความ (ก่อนใส่บทความลงไปจะต้องคลิกที่คำว่า แก้ไข Html ซึ่งจะเป็นช่องสำหรับการเขียน Code) แล้วก็อย่าลืมใส่ชื่อเรื่องของบทความลงไปด้วย (ชื่อเรื่องก็ให้ตั้งตามชื่อ File ที่ให้ Copy Code) หลังจากใส่ชื่อเรื่อง และ Copy Code บทความลงไปในหน้าต่าง แก้ใข Html เสร็จแล้ว ก็กด เผยแพร่ข้อความได้เลย เป็นอันเสร็จสิ้นการทำบทความหัวข้อแรก


เริ่มสร้างหัวข้อถัดไปกันต่อได้เลยโดยการคลิกที่ สร้าง แล้วทำเหมือนเดิม Copy Code บทความ อันที่สอง มาใส่แล้วทำเหมือนเดิม ตั้งชื่อเรื่องให้เรียบร้อย (ในบทความที่สองนี้เราต้องไปแก้ไขข้อมูลบางอย่างให้เป็นของตัวคุณเอง) หลังจากนั้นคลิกที่คำว่า เขียน ซึ่งอยู่ติดกับคำว่า แก้ไข Html คุณจะเห็นว่า Code ที่คุณใส่ลงไปนั้น หน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ทำการแก้ไขข้อมูลให้เป็นของคุณ ชื่อ เบอร์โทร อีเมล์ ตัวอย่างดังภาพ เมื่อเสร็จแล้วก็คลิก เผยแพร่ เป็นอันเสร็จบทความหัวข้อที่ 2

บทความหัวข้อที่ 3 ก็เช่นกันคุณต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลบางอย่าง คือ แก้ลิ้งก์สมัครธุรกิจให้เป็นของคุณเอง ตรงคำว่า คลิ๊กที่นี่เพื่อสมัครสมาชิก ให้คุณลากเม้าส์คลุมคำๆนี้ไว้ หลังจากนั้นคลิกที่รูปโซ่ (อยู่ตรงวงสีแดงที่อยู่ในภาพ) หลังจากนั้นก็เปรี่ยน ID Member (รหัสสมาชิก) แล้วคลิก OK เวลาใครมาคลิกจะได้ไปที่หน้าเวปธุรกิจของคุณ


นอกนั้นตั้งแต่บทความที่ 4 เป็นต้นไปไม่มีอะไรต้องแก้ไข Copy Code ใส่ลงไปใน หน้าต่าง แก้ไข Html ตั้งชื่อเรื่องแล้วกดเผยแพร่ ทำจนครบทุกบทความ เป็นอันเสร็จสิ้น ตอนนี้คุณก็สามารถใช้ Blog ที่คุณทำขึ้นไปโปรโมทได้แล้ว ไปดูผลงานของคุณเอง คลิกที่คำว่า ดูบล๊อก ในกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการนำ Code ที่ทีมงานมีให้ Copy ใส่ลงไปเลยเพื่อสะดวกรวดเร็วในการสร้าง Blog เท่านั้น แต่ถ้าหากคุณอยากจะเขียนบทความขึ้นมาเอง ก็ให้ใส่บทความของคุณลงไปในช่อง เขียน (Compose) ซึ่งในช่องนี้คุณสามารถเขียนบทความของคุณเองได้ตามใจ เมื่อเขียนเสร็จก็กด ที่ปุ่มเผยแพร่ข้อความ(Publish Post) เป็นอันเสร็จสิ้น